ประวัติความเป็นมา

         ชนไก่ หรือ ตีไก่ เป็นที่นิยมเผยแพร่ในประเทศแถบเอเชีย ของเรามายาวนาน คือ ไทย พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และอินโดเนียเซีย กีฬาชนไก่ได้แพร่หลายไปอีกหลายประเทศของโลก ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการชนไก่เช่นกัน เชื่อกันว่า ไก่ชนคงพัฒนามาจาก “ไก่ป่า” ซึ่งมีคนนำมาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารประจำบ้าน เมื่อไก่ป่ามาอยู่กับคนนานเข้าก็แพร่ลูกหลานเป็นจำนวนมาก

                นิสัยของไก่ประจำตัวคือ หวงถิ่นที่อยู่ ถ้ามีตัวอื่นข้ามถิ่นมาก็จะออกไปปกป้องตีกันหรือเมื่อมีการแย่งผสมพันธุ์กับตัวเมียไก่ตัวผู้ก็จะตีกัน ซึ่งจะเริ่มหางไก่กันระหว่างเจ้าของไก่ จึงมีการพนันเกิดขึ้นด้วย นิสัยของคนไทยหรือนักเลงไก่ชนต้องการจะเอาชนะผู้อื่นจึงมีการพัฒนาไก่ป่าเรื่อยมาจนเป็น “ไก่อู” ซึ่งเป็นต้นตระกูลไก่ชนไทยสมัยแรกๆ ไก่อูมีหลายสีขนาดใหญ่ แต่รูปร่างปราดเปรียว ไข่ดก มีเนื้อมาก เมื่อนำมาเป็นไก่ชนจะทรหดอดทน แข็งแรงชนได้ดี ทนทานในการต่อสู้การผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาไก่ชนให้ชนเก่ง นักเลงไก่ชน ต้องคัดเลือกศึกษาไก่ชนเก่ง ถึงมีลักษณะทั่วไป สีขน สร้อย โดยเฉพาะบริเวณแข้งและนิ้วเท้าจึงเกิดเป็นตำราไก่ชนบอกเล่าต่อๆกันมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาก็ทำการบันทึกหลักฐานไว้ ดังนั้นตำราไก่ชนจึงไม่ได้สูญหายไปไหนมีการถ่ายทอดมาโดยตลอด และมีการเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    หนังสือไก่ชนของ เกรียงไกร ไทยอ่อน เขียนไว้ว่า ไก่ชนไทยพัฒนามากกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีพันธุ์ไก่ชนเป็นจำนวนมาก ที่นักเลงไก่ชนได้ผสมพันธุ์ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือ ให้ได้ไก่เก่งเพื่อนำไปชนชนะไก่อื่นๆ แยกตามสีดังนี้ คือ ไก่เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เขียวเลา เทาทอง และไก่ลาย นักเลงไก่ชนหลายท่านบอกว่า ไก่ชนสมัยแรกๆ นั้น มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ ประดู่ไก่ป่า (ประดู่หางดำ) และไก่เหลืองหางขาว

        จากหนังสือพระมหากษัตริย์ของ ประกอบ  โชประการ (2519 : หน้า 208)  วันหนึ่งได้มีการตีไก่ขึ้นระหว่างสมเด็จพระนเรศวรฯ กับไก่ของมังชัยสิงห์ราชนัดดา (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช) ไก่สมเด็จพระนเรศวรตีชนะมังชัยสิงห์ มังชัยสิงห์จึงขัดเคืองตรัสประชดประชันหยามหยันออกมาอย่างผู้ที่ถือดีว่ามีอำนาจเหนือกว่าว่า “ไก่เฉลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” ถ้าไม่ใช่คนเหี้ยมหาญแกว่นกว้า ไม่ใช่คนสู้คนทุกสถานการณ์ก็คงจะได้แต่รับฟังหรือเจรจาโต้ตอบไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่สมเด็จพระนเรศวรไม่ใช่คนเช่นนั้น ทรงเป็นวีรขัติชาติที่ทรงสู้คนทุกสถานการณ์จึงโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า
        “ไก่เชลยตัวนี้อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่างวันนี้เลยตีพนันบ้านเมืองกันก็ยังได้”

พ.ต. พิทักษ์  บัวเปรม (ข้าราชการบำนาญ) ได้บันทึกไว้ว่าเมื่อปี 2500 ท่านได้อ่านตำราสมุดข่อย เชื่อแน่ว่าไก่ที่พระนเรศวรฯ ทรงนำไปชนกับพม่านั้นนำไปจาก “บ้านกร่าง” เดิมเรียกว่า “บ้านหัวแท” ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ความเห็นนี้ทางตรงกับการศึกษาของ พล.ต.ต. ผดุง สิงหเสนีย์ ด้วย “บ้านกร่าง” อำเภอเมืองพิษณุโลก แดนไก่ชนนเรศวร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไทยโบราณ ปัจจุบันพบซากปรักหักพังและวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มายาวนาน ผู้คนในหมู่บ้านยังสืบทอดขนบธรรมเนียม มาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือมีงานเทศกาลต่างๆ ก็นัดชนไก่กัน ณ บ่อนไก่ชนประจำหมู่บ้าน