ลักษณะไก่ชนพระนเรศวร

ลักษณะไก่ชนนเรศวร
        ไก่ชนนเรศวร เป็นไก่ชนในสายพันธุ์ไก่เหลืองหางขาวดังคำกล่าวที่ว่า “ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” จึงเป็นที่ต้องการของนักเลงไก่ปัจจุบันอย่างมากถึงกับพูดว่า “ไก่ชนเหลือหางขาวกินเหล้าเชื่อ” หมายความว่า ไก่เหลืองหางขาวเมื่อได้คู่ตีไม่ต้องมานั่งดูไปสั่งเหล้ามากินเชื่อก่อนได้ต้องชนะแน่ๆ ตำราไก่ชนของ เกรียงไกร ไทยอ่อน บอกว่าไก่เหลืองหางขาวเป็นไก่มีสกุลประวัติเด่นมาก มีลำหักโค่นดี แทงแม่นยำ อาจแทงเข้าตาหรือเข้ารูหูพอดี รูปร่างยาว 2 ท่อน สูงระหงดี สีสร้อยเป็นสีเหลือง ปากสีเหลือง เนื้อชมพูอมแดงแข้งเหลืองอมขาว เล็บและเดือยสีเหลืองอมขาว ซึ่งมีนักเลงไก่ชนหลายท่านได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ไก่เหลืองหางขาวต้องมีลักษณะดูเป็นพิเศษโดยทั่วไปอีก คือ
        “หน้างอนบาง       กลางหงอนสูง
        สร้อยระย้า          หน้านกยูง”

ไก่เหลืองหางขาว เป็นไก่ชนชั้นยอดเยี่ยมของทางภาคใต้ มีลักษณะคือ
        “อกชั้น               หวั้นชิด
        หงอนบิด             ปากร่อง
        พัดเจ็ด               ปีกสิบเอ็ด
        เกล็ดยี่สิบสอง      ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม”

อกชั้น         คือ    อกเชิดท้ายลาด
หวั้นชิด       คือ    ขั้วหางชิดบั้นท้ายก้นเชิงกราน
หงอนบิด     คือ    หงอนไม่ตรง ปิดกระหม่อม
ปากร่อง      คือ    ปากบนมีร่อง ตั้งแต่โคนตรงจมูก 2 ข้าง
พัดเจ็ด       คือ    ขนหางพัดมีข้างละ 7 อัน
ปีกสิบเอ็ด   คือ    ขนปีกท่อนนอกข้างละ 11 อัน
เกล็ดยี่สิบสอง      คือ    เกล็ดนิ้วกลางมี 22 เกล็ด

                พ.ต. พิทักษ์ บัวเปรม สรุปลักษณะไก่ชนนเรศวร ไว้ดังนี้
                สี : สร้อยเหลือง ทั้งสร้อยคอ สร้อยปีกและสร้อยหลังลักษณะ “สร้อยประบ่า ระย้าประกัน”
                หาง : ยาวเหมือนฟ่อนข้าว กะลวยหางสีขาว ยาวโค้งไป ด้านหลังเหมือนปลายห้อยตกลงสวยงาม
                หน้า : แหลมยาวหน้าเหมือนนกยูง
                ปาก : ขาวอมเหลือง มีร่อง 2 ข้างจงอยปาก
                ปีก : ใหญ่ยาว  มีขนขาวแซมทั้งสองข้าง
                อก : ใหญ่ ตัวยาว  ยืนห่างกัน
                ตะเกียบ : คู่แข็ง กระดูก
                แข้ง : ขาวอมเหลือง เล็ก นิ้วยาวเรียว เดือยงอนคับช้อน
                ขัน : เสียงใหญ่-ยาว
                ยืน : ท่าผงาดดังราชสีห์

สายพันธุ์

        1. เหลืองหางขาว ขนาด เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป(วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) และเพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป
        ลักษณะประจำพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร
        ลักษณะเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1.  หัวมีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง
                        1.1  กะโหลก     กะโหลกอวบกลมยาว  2 ตอนส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย
                        1.2  หน้า           ลักษณะคล้ายหน้านกยูง มีสีแดงจัด
1.3 ปาก            รูปร่างคล้ายปากนกแก้ว ลักษณะแข็งแรงมั่นคงมีสีขาวอมเหลือง โคนปากใหญ่ขอบปากและปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท ปากบน มีร่องลึกตั้งแต่โคน ตรงรูจมูกถึงกลางปาก
                        1.4  หงอน         ลักษณะหน้าหงอนบาง กลางหงอนสูงปลายหงอนกดกระหม่อม มีสีแดงจัด
                        1.5  จมูก           รู้จมูกกว้างและยาว ฝาปิดรูจมูกมีสีขาวอมเหลือง
                        1.6  ตา              มีขนาดเล็ก ตาขาวมีสีขาวอมเหลือง(ตาปลาหมอตาย) มีเส้นเลือดแดงโดยรอบหัวตาแหลมเป็นรูปตัววี(V)
                        1.7  หู                หูทั้งสองข้างมีขน 3 สี คือ สีขาว สีเหลืองและสีดำ ขนหูมีมากปิดรูสนิท ไม่มีขี้หู
                        1.8  ตุ้มหู           ตุ้มหูเป็นเนื้อสีแดงจัดเหมือนสีของหน้าขนาดไม่ใหญ่และบาน   
                      1.9  เหนียง       ต้องไม่มี(ลักษณะคางรัดเฟ็ด)
                        1.10 คิ้ว             โหนกคิ้วนูนเป็นสันโค้งบังเบ้าตา

                2.  คอ  คอยาว(2วง) และใหญ่ กระดูกข้อถี่

                3. ลำตัว ลำตัวกลมยาว(ทรงหงส์) จับได้ 2 ท่อน
                        3.1 ไหล่              กระดูกซอกคอใหญ่ ไหลกว้าง
                        3.2 อก              อกกว้างใหญ่ กล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกแข็งแรงโค้งเป็นท้องเรือและยาว(ไม่คดง้อ)
                        3.3  กระปุกหาง  มีขนาดใหญ่ชิดกับบั้นท้าย
                        3.4 ต่อมน้ำมัน    มีขนาดใหญ่ 1 ต่อม อยู่บนกระปุกหาง
                        3.5 ตะเกียบก้น   เป็นกระดุก 2 ชิ้น ออกจากกระดูกซี่โครงคู่สุดท้ายยาวมาถึงก้น แข็งแรง หนา โค้งเข้าหากัน และอยู่ชิดกัน


                4. ปีก
                        เมื่อกางออก จะเห็นกล้ามเนื้อปีกใหญ่หนาตลอดทั้งปีก เอ็นยึดกระดุกแข็งแรง ขนปีกขึ้นหนาแน่นชิดมีความยาวเรียงติดต่อกันจากหัวปีกถึงท้ายปีกและยาวถึงกระปุกถึงหาง              5. ขา         ขาได้สัดส่วนกับลำตัว
                        5.1 ปั้นขา            กล้ามเนื้อโคนขาใหญ่ทั้งสองข้าง เวลายืนโคนขาอยู่ห่างกัน
                        5.2 แข้ง              มีลักษณะเรียวเล็กกลม สีขาวอมเหลือง
                        5.3 เดือย            โคนมีขนาดใหญ่ ต่ำชิดนิ้วก้อย ส่วนปลายเรียวแหลมคม และหงอนเล็กน้อย มีสีขาวอมเหลือง
                6. มีความสมบูรณ์ คือ นิ้วครบ ไม่คดงอ
                        6.1 นิ้ว              มีลักษณะยาว ปลายเรียว มีทองปลิงใต้ฝ่าเท้านิ้วจะมีปุ่มตรงข้อลักษณะคล้ายเนื้อด้านนิ้วละ 3 ข้อ นิ้วกลาง มีเกล็ดตั้งแต่ 20 เกล็ดขึ้นไป ส่วนนิ้วก้อยจะสั้น                   6.2 อุ้งตีน           หนังอุ้งตีนบาง เวลายืนอุ้งตีนไม่ติดพื้น
                        6.3  เล็บ             โค่นเล็บใหญ่ หนา แข็งแรง ปลายแหลม มีสีเหมือนแข้ง คือ ขาวอมเหลือง
                7. ขน ขนเป็นมัน  เงางามระยับ
                        7.1  ขนพื้น มีสีดำตลอดตัว
                        7.2  สร้อย  มีลักษณะ “สร้อยประบ่า ระย้าประกัน” คือสร้อยคอ ขึ้นหนาแน่นยาวประบ่า สร้อยหลังยาวระย้าประถึงก้น มีลักษณะเส้นเล็กละเอียดปลายแหลม ส่วนสร้อยปีกและสนับปีกมีสีเดียวกัน

                        7.3  ปีกนอก (ตั้งแต่หัวปีกถึงกลางปีก) มีไม่น้อยกว่า 11 เส้น  ปีกใน (ตั้งแต่กลางปีกถึงปลายปีก) มีสีดำไม่น้อยกว่า 12 เส้น ปีกไช(ปีกแซมปีกนอก)มีสีขาวไม่น้อยกว่า 2 เส้น เมื่อหุบปีกจะมองเห็นสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีก 2-3 เส้น เมื่อกางออกจะมองเห็นปีกนอกมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                8. หาง ยาวเป็นพวงและเป็นพุ่มเหมือนฟ่อนข้าว
                        8.1  หางพัด มีข้างละไม่น้อยกว่า 7 เส้น มีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                        8.2  หางกะลวย  คือ ขนหางคู่กลางซึ่งเป็นหางเอกจะมีสีขาวปลอดทั้งเส้น มีขนรองหางกะลวยหรือหางรับไม่น้อยกว่า 6 เส้น และมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                        8.3  เป็นเส้นหนึ่งที่ต่อจากสร้อยหลัง มีลักษณะปลายแหลมปกคลุมกระปุกหาง ขอบขน มีสีเหลืองเหมือนสร้อยหลัง
                9. หลัง หลังแผ่เบนขยายใหญ่
                10. กิริยา
                        10.1  ท่ายืน ยืนยืดอด หัวปีกยก ท่าผงาดดังราชสีห์
                        10.2  ท่าเดิน        และวิ่ง        ท่าเดิน สง่าเหมือนท่ายืน เวลาเดินเมื่อยกเท้าขึ้นจะกำนิ้วทั้งหมด เมื่อย่างลงเกือบถึงพื้นดินจะแบนิ้วออกทั้งหมด เวลาวิ่งจะวิ่งด้วยปลายนิ้ว และวิ่งย่อขาโผตัวไปข้างหน้าเสมอ
                        10.3 ขันเสียงใหญ่ ยาว ชอบกระพือปีกและตีปีกแรงเสียงดัง

                11. ลักษณะพิเศษ
                        11.1  พระเจ้าห้าพระองค์ คือ มีหย่อมกระ(มีขนสีขาวแซม๗ 5 แห่ง ได้แก่ 1. หัว 2.หัวปีกทั้งสอง 3.ข้อขาทั้งสอง
                        11.2 เกล็ดสำคัญ ได้แก่  เกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล เกล็ดผลาญศัตรู นอกจากนี้ยังมีเกล็ดกากบาท จักรนารายณ์ ฯลฯ
                        11.3 สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก (สนับปีก) เป็นสีเหลืองทอง เรียกว่า เหลืองประภัสสร
                        11.4 สร้อยสังวาล  เป็นสร้อยบริเวณด้านข้างลำตัว มีลักษณะและสีเดียวกับสร้อย และสร้อยหลัง
                        11.5 ก้านขนสร้อยและหางกะลวย  มีสีขาว บัวคล่ำ-บัวหงาย บริเวณด้านใต้โคนหางเหนือทวารหนักมีขนประสานกันลักษณะแหลมไปที่โคนหางดูคล้ายบัวคว่ำ-บัวหงาย

                ลักษณะข้อบกพร่องของเพสผู้ของพ่อพันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1.  ข้อบกร่องร้ายแรง
                        1.1 กระดูกอกคด
                        1.2 นิ้วหรือเท้าบิดงอ
                        1.3 ไม่มีเดือย
                        1.4 แข้งไม่ขาวอมเหลืองตลอด(แข้งมีสีดำหรือแข้งลาย)

                2. ข้อบกพร่องไม่ร้ายแรง
                        2.1 เท้าเป็นหน่อ
                        2.2 ปากไม่ขาวอมเหลืองตลอด หรือมีจุดดำที่โคนปาก
                        2.3 ในขณะหุบปีก ขนปีกมีสีขาวแลบออกมาทางด้านขวางคล้ายปีกนกพิราบ                 2.4  เดือยหัก หรือตัดเดือย
                        2.5  สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
                        2.6  ลักษณะไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

        ลักษณะเพศเมียหรือแม่พันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1. หัว  มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง ได้แก่ กะโหลก หน้า ปาก หงอน จมูก ตา หู และ คิ้ว มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
                2. คอ คอยาวใหญ่ และกระดูกคอถี่
                3. ลำตัว  มีลำตัวยาวกลม (ทรงหงส์) ได้แก่ ไหล อก กระปุกหาง ต่อมน้ำมัน มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ ส่วนปลายของตะเกียบก้นห่างกันทำให้ไข่ดกและฟองโต
                4. ปีก ลักษณะทั่วไปคล้ายกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์

                5. ขา ได้สัดส่วนกับลำตัว ปั้นขาและแข็งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพสผู้หรือพ่อพันธุ์
                6. เท้า มีความสมบูรณ์ ทั้งนิ้ว อุ้งตีน และเล็บ
                7. ขน ขนเป็นมันเงางาม ขนพื้นมีสีดำตลอดลำตัว มีขนสีขาวกระ(สีขาวแซม) บริเวณหัว หัวปีกและข้อเท้า(ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์) ขนปีกเมื่อหุบปีกมีสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีกไม่เกิน 2-3 เส้น เมื่อกางปีก จะมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                8. หาง มีหางพัดเป็นจำนวนมาก ชี้ตรงหรือตั้งขึ้นเล็กน้อยมีสีขาวแซม
                9. หลัง  เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
                10. กิริยาท่าทาง  การยืน เดิน และวิ่ง เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์แต่มีลักษณะความเป็นแม่พันธุ์เพศเมีย
                11.  ลักษณะพิเศษ มีลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์ และเกล็ดที่สำคัญเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ หากมีเดือยจะดีมากและมีสีขาวอมเหลืองด้วย
                ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศเมียหรือแม่พันธุ์ไก่ชน
                        1.มีลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นเดียวพับพ่อพันธุ์เพศผู้ เช่น กระดุกอกคด เท้าเป็นหน่อ และนิ้วเท้าบิดงอ
                        2.ขนปีกและขนหาง มีจุดขาวมากเกินกว่า ร้อยละ 10
                        3. สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
                        4. ลักษณะที่ไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

ไก่เหลืองหางขาว ที่ประกาศรับรองพันธุ์

        ไก่เหลืองหางขาว สมาคมฯ ได้กำหนดอุดมทัศนีย์ไว้ และประกาศรับรองพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด คือ

        *เหลืองใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเหลืองแก่ดังสีทองแท่ง ขนปีกในสีดำ ขนปีกนอกสีขาว ขนหางพัดสีดำปลายขาว ขนหางกะลวยสีขาวปลายดำ คู่กลางขาวปลอด ปาก-แข้ง-เล็บ-เดือย สีขาวอมเหลือง แบบสีงาช้าง ตาสีตาปลาหมอตาย (ขาวอมเหลืองอ่อน) ขนปิดรูสีเหลืองแบบสร้อย มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
        *ไก่เหลืองรวกพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองกลางดังสีทองทา หรือสีไม้รวกแก่แห้ง

ไก่เหลืองโสนพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองอ่อนดังสีทองเปลว(ทองปิดพระ) หรือสีดอกโสน หรือดอกคูณ
        *เหลืองเลาพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนเหลืองใหญ่ เหลืองรวก เหลืองโสนทุกประการ ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โดยโคนสร้อยจะเป็นสีขาว ปลายสร้อยจะเป็นสีเหลือง ส่วนไก่เหลืองพระเจ้า 5 พระองค์ตัวอื่นๆ โคนสร้อยจะเป็นสีดำปลายเหลือง

        *ไก่เหลืองทับทิม ลักษณะจะเหมือนเหลืองทั้ง 4 ที่กล่าวมา ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โคนสร้อย สีดำปลายสร้อยสีเหลืองมีจุดขาวอมเหลืองอยู่ปลายสร้อย เรียกว่า “ทับทิม หรือ ดาวเรือง” ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
        *ไก่เหลืองเอกา หรือบางทีเรียกเหลืองธรรมดา ลักษณะเหมือนไก่เหลืองทั้ง 5 ต่างกันตรงที่ไม่มีหย่อมกระ พระเจ้า 5 พระองค์ ไม่มีจุดทับทิมหรือดาวเรืองในสร้อย สีสร้อยมีทั้งแก่ กลาง อ่อน

ในไก่เหลืองหางขาวทั้ง 6 ชนิดนี้ เราถือว่าเป็นไก่เหลืองหางขาวเหมือนกันหมด ไม่มีตัวใดเหนือตัวใด แต่ในกลุ่ม พระเจ้า 5 พระองค์จะเป็นที่นิยมในคนเลี้ยงมากกว่า ใ

การกราดไก่

        การกราดไก่
        ในการเลี้ยงไก่ชนเพื่อนำออกชน เรามีไก่เก่งอย่างเดียวยังไม่พอ ความสมบูรณ์และแข็งแรงของไก่ก็เป็นส่วนส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง การราดน้ำและกราดแดดจึงมีความสำคัญไม่แพ้กันกับการออกกำลังกายหรือการกินอาหารบำรุง ขณะเดียวกันการกราดน้ำและกราดแดดก็มีโทษเช่นกันเพราะตามนิสัยของไก่ไม่ชอบการกราดน้ำเลยถ้าไม่มีเทคนิคในการกราดน้ำอาจเป็นโทษมากกว่าจะเป็นประโยชน์ก็ได้
        1. การกราดน้ำไก่
        การกราดน้ำไก่ชนไม่ว่าจะใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่น(สมุนไพร) จะแตกต่างกันตรงน้ำเท่านั้นหรือหลักการกราดน้ำไก่จะต้องดูดินฟ้าอากาศคือฟ้าต้องโปร่ง ถ้าครึ้มฝนเราอย่านำไก่ออกมากราดน้ำเด็ดขาด เพราะจะมีแต่โทษ ไก่จะหนาวสั่นอาจถึงป่วยเป็นหวัดได้ ประโยชน์จะไม่มีเลยถ้าฝนตก ดังนั้นถ้าจะเริ่มทำการกราดน้ำโดยมีขั้นตอนดังนี้
                ขั้นที่ 1 นำไก่ที่ต้องการออกมาดูข้าวในกระเพาะไก่ว่ามีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีข้าวเลยต้องให้กินข้าวเปลือกประมาณ ¼ กระเพาะ ถ้าไม่มีข้าวเมื่อกราดน้ำแล้วไก่จะหนาวมากไป เพราะกระเพาะไม่มีอะไรที่จะเผาผลาญความร้อนให้แก่ร่างกายเลย ดังนั้นในการกราดน้ำไก่จึงจำเป็นต้องมีข้าวเปลือกในกระเพาะพอประมาณจากนั้นนำเอาถุงพลาสติกมาสวมที่ปีกทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเปียกปีกไก่ ถ้าน้ำเปียกปีกไก่จะทำให้ใยปีกไม่แตกเมื่อใยปีกไม่แตกไก่จะบินไม่ดีเพราะปีกไม่กินลมหรือกินลมน้อยลงจึงทำให้บินไม่สูง
                ขั้นที่ 2 จะกราดน้ำตรงไหนก่อนก็ได้ เช่น ที่สร้อยคอ ขนตรงอก หรือใต้ปีกแต่ต้องกราดน้ำโดยใช้ผ้าเช็ดตามขนไก่ อย่าย้อนขนไก่เด็ดขาดเพราะจะทำให้ขนไก่หักได้ ที่ไม่ให้เปียกเด็ดขาดคือ ปีกและหางไก่ แล้วนำผ้าแห้งมาเช็ดอีกทีหนึ่งจนขนไก่แบจะแห้งอย่าปล่อยให้น้ำแฉะหยดเด็ดขาด การเช็ดด้วยผ้าแห้งเท่ากับการนวดกล้ามเนื้อไก่ไปในตัวด้วย
                ขั้นที่ 3 นำไก่ที่เช็ดตัวแห้ง(พอหมาด) ไปนาบกระเบื้อง การนาบกระเบื้องจะทำให้หนังไก่หน้าและเหนี่ยวมากยิ่งขึ้น โดยนำกระเบื้องมาเผาไฟให้ร้อน (สมัยนี้ใช้กระเบื้องที่ทำขายทั่วไปของร้ายขายอุปกรณ์ไก่ชน) หลังจากนั้นผ้ากราดน้ำไก่ชุบน้ำแล้วบีบน้ำออกไปคลึงลงบนแผ่นกระเบื้องที่ร้อนมาทดลองกับขาของเราดูว่าร้อนเกินไปหรือไม่ ถ้าพอดีแล้วก็นาบลงบนอกไก่ คอ ปีก ปั้นขา จนทั่วทั้งตัวทำทุกอย่างนี้ทุกครั้งที่กราดน้ำจะทำให้หนังไก่หนาและเหนียวขึ้นทุกที
                ขั้นที่ 4 นำไก่ที่ลงกระเบื้องแล้วไปลงขมิ้นที่ผสมปูนไว้ครั้งแรก ควรลงทั้งตัวโดยใช้แปรงสีฟันจุ่มขมิ้นที่ผสมปูน แล้วแปรงไปตามขนไก่ (อย่าทวนขนไก่เด็ดขาดเพราะขนไก่จะหัก) ทุกๆ เส้นขนจนทั่วทั้งตัว ยกเว้น ปีกไก่กับหางไก่ ครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อๆ ไป ไม่ต้องลงทั้งตัวก็ได้ลงเฉพาะส่วนที่ไก่จะถูกคู่ต่อสู้ตีเท่านั้น เช่น หน้าอก ปั้นขา ปีก เป็นต้น แล้วถอดถุงพลาสติกออกนำไปใส่สุ่มตากแดดพร้อมกินข้าวเปลือกที่เตรียมไว้ให้จนอิ่มเป็นการเสร็จสิ้นการกราดน้ำไก่ชน

    ข้อควรระวัง เครื่องมือในการกราดน้ำไก่ เช่น ผ้าเช็ดน้ำไก่ ขนไก่ที่ใช้ปั่นคอแต่ละตัวอย่าใช้ปนกัน เพราะจะทำให้ติดโรคกันได้หรือทางที่ดีควรป้องกันไว้คือต้มทุกครั้งหลังใช้จะดีมาก

 ข้อดีและข้อเสียของการกราดน้ำเย็น
        ข้อดี
                1. ขนของไก่ไม่ค่อยเสีย ถึงจะเสียก็นานกว่าการกราดน้ำด้วยน้ำอุ่น
                2. เลี้ยงไก่เข้าชนได้นานถึงแม้จะค้างนัด 1-2 ครั้งก็ยังชนได้เพราะไม่ค่อยดึงตัวเหมือนกับการเลี้ยงด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร)
                3. ไก่จะบิน บินสูงเพราะไม่ตึงตัวเหมือนกับการเลี้ยงด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร)
                4. ค่าใช้จ่ายน้อย เพราะไม่ต้องไปหาสมุนไพรมาต้มน้ำและเสียเวลาน้อยด้วยเพราะตักน้ำมาจากโอ่งก็กราดได้เลย


        ข้อเสีย             

1. ความแข็งแกร่ง น้อยกว่าการเลี้ยงด้วยน้ำสมุนไพร(สมุนไพร)
                        2. ผิวหรือหนังไก่ไม่หนาเหมือนกับการกราดน้ำด้วยน้ำอุ่น
                        3. ความทนทานสู้กับการกราดน้ำอุ่นไม่ได้เพราะเมื่อถูกคู่ต่อสู้ตีบาดแผลเท่ากันกราดด้วยน้ำเย็นจะเจ็บกว่าเพราะหนังบางกว่า


         ข้อดีและข้อเสียของการกราดน้ำอุ่น

                ข้อดี
                        1.  มีความแข็งแกร่ง เพราะสมุนไพรจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อไก่ให้แข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อปีก กล้ามเนื้อขาทำให้ไก่มีความแข็งแกร่งไปทั้งตัว
                        2.  ผิวหรือหนังไก่จะหนา ทนต่อบาดแผลถูกคู่ต่อสู้คดีได้ดีกว่าน้ำเย็น
                        3.  มีความอดทนเพราะถูกคู่ต่อสู้ตีแล้วไม่ค่อยเจ็บทำให้แพ้ยาก ถ้าบาดแผลเท่ากันอาจจะชนะได้
                ข้อเสีย

                        1.  ขนของไก่ชนจะเสียง่าย เช่น หัก กรอบ ขนไม่สวยเหมือนกราดด้วยน้ำเย็นขนไม่เป็นมันคล้ายกับไก่ขนจะหลุด จึงทำให้นำไก่เข้าชนไม่ได้มากครั้ง ถ้าไก่ชนชนะอาจจะเข้าชนได้ 1-2 ครั้ง เท่านั้นถ้ากราดน้ำด้วยน้ำอุ่น ถ้ากราดด้วยน้ำเย็นอาจชนได้ถึง 3-4 ครั้งถ้าชนะ
                        2.  ถ้าเลี้ยงแล้วค้างนัด คือหาคู่ไม่ได้จะค้างได้นัดเดียว จะต้องนำไก่ไปปล่อยให้เล่นฝุ่นประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ 1-10 วัน แล้วนำมาฉะหน้าใหม่(ซ้อมใหญ่ประมาณ 1 อัน) จึงจะนำมาเลี้ยงเข้าชนใหม่ได้ ไม่เหมือนกับไก่ที่กราดด้วยน้ำเย็นจะเลี้ยงต่อไปเลย
                        3.  ไก่ชนที่กราดด้วยน้ำอุ่น (สมุนไพร) นี้ในยกแรกจะบินไม่ค่อยดีเพราะตัวไก่จะตึงแต่พอยกที่ 2-3 จะค่อยๆ บินดีขึ้น จะตรงกันข้ามกับไก่ที่กราดด้วยน้ำเย็น
                        4.  เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลา เพราะไปหาสมุนไพรหม้อเตามาต้ม และต้องต้มไว้ข้ามวันข้ามคืนคือจะกรวดน้ำเช้านี้ จะต้องต้มสมุนไพรไว้ก่อน 1 วัน

        สูตรการต้มน้ำยาสมุนไพรเพื่อกราดน้ำไก่ชน
                1. ตะไคร้ เอามาทั้งต้นและเหง้า เพราะตะไคร้จะช่วยขับลมแก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับนิ้ว แก้ปวดหลัง ขับเหงื่อและช่วยเจริญอาหาร
                2. ใบส้มป่อย ต้มน้ำแล้วดื่มกินจะแก้ขับเสมหะเป็นยาถ่ายอ่อนๆ ฟอกโลหิต แก้โรคตา แก้โรคผิวหนัง กราดรังแค ถ้าเป็นแผลจะช่วยรักษาแผลได้ด้วย
                3. ขมิ้นชั้น ใช้แก้โรคตาบวม ตาแดง ขับกลิ่นสกปรกในร่างกาย แก้ผดผื่นคันสมานแผล แก้ท้องร่วงและยังช่วยกำจัดไรในไก่ชนอีกด้วย เพราะไรจะกัดกินเลือดไก่ทำให้ไก่สมบูรณ์ แก้โรคผอมแห้งของไก่ก็ได้
                4. ใบมะขามเปรี้ยว จะช่วยในการขับเลือดลมในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้บิด ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้กระหายน้ำ แก้หวัดคัดจมูกในไก่ชน
                5. บอระเพ็ด ช่วยแก้พิษฝีดาษไก่ แก้พิษไข้ หรือแก้โรคแทรกซ้อนของไข้ทรพิษ บำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ทำให้เลือดเย็น และยังแก้ร้อนดับกระหายได้ด้วย
                6. ขมิ้นอ้อย แก้โรคตาแดง ตาแฉะ แก้มะเร็งในรังไข มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งต่อม    ไธรอยด์ รักษาอาการของเลือดคลั่ง เลือดลมหมุนเวียนไม่สะดวก
                7. ไพล เป็นตัวยาที่แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำในไก่ เมื่อซ้อมมาใช้ไพลจะช่วยรักษาสมานแผลภายนอก ช่วยรักษาผิวหนังและบาดแผลที่เกิดจากคู่ต่อสู้ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังเป็นพยาธิภายในได้อีกด้วย
                8. เมื่อหาสมุนไพรทั้ง 7 อย่างได้อย่างละเท่าๆ นำมาหั่นแล้วใส่ผ้าขาวบาง(ผ้ามุ้ง) ห่อแล้วนำมาใส่น้ำพอเหมาะตั้งไฟต้มประมาณ 3-4 ชั่วโมงรินเอาเฉพาะน้ำมาใส่ลงในภาชนะสำหรับจะกราดน้ำไก่ให้นำสมุนไพรไก่(อย่าร้อน)จึงนำไปกราดน้ำไก่ชน สมุนไพรที่รินน้ำออกมาแล้วทิ้ง ต้มไปอีกโดยใส่น้ำลงไปต้มอีกอย่างเดิม จนกว่าสมุนไพรจะเจือจางจึงจะเปลี่ยนใหม่เหมือนเดิม ดังนั้นกราดน้ำไก่ด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร) จะลำบากและใช้เวลามากกว่านั้น

    2. การกราดแดดไก่ชน
                การกราดแดดไก่ชนนับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปกับการกราดน้ำไก่ชน การกราดแดดไก่ชนมีประโยชน์คือ
                1. ทำให้ไก่แข็งแรง ทนทาน อีกทางหนึ่ง ถ้าไก่ชนที่เข้าชนขาดแดด จะสู้ไก่ที่กราดแดดมาอย่างดีไม่ได้ซึ่งนักเลี้ยงไก่รู้ดี ถ้าฝนตกบ่อยๆ ไก่กราดแดดไม่ได้นักชนไก่จะไม่นำออกมาตีเด็ดขาด
                2. ช่วยควบคุมน้ำหนัก ไก่ชนจะมีน้ำหนักที่พอเหมาะกับรูปร่างของไก่นักเลี้ยงไก่จะต้องชั่งน้ำหนักเท่านั้น ส่วนวิธีที่ควบคุมน้ำหนักที่ดี คือกราดแดด
                3. ช่วยให้หายหอบหรือเหนื่อย ไก่ที่กราดแดดสม่ำเสมอ เวลาที่เข้าชนในสังเวียนไก่จะไม่ค่อยหอบปลายยกไก่ที่หอบหรือเหนื่อยปลายยกเกิดจากกราดแดดไม่ถึงทำให้เสียกำลังในยกต่อไป หรือถ้าหอบในต้นๆ ยก อาจทำให้แพ้ได้เลยก็มี
                4. แสงแดดทำให้กระทำให้กระดูกแข็งแรง เพราะได้รับวิตามินดี ที่ช่วยให้ไก่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม ไก่ที่ขาดแสงแดดอาจทำให้เป็นง่อนเปลี้ยได้

                โทษของการกราดแดด
                การกราดแดดเป็นวิธีการที่ผ่านการกราดน้ำแล้วโดยขังไว้ในสุ่มไก่ ระยะเวลาในการกราดแดดจะยาวเท่าไรไม่มีใครบอกได้ขึ้นอยู่กับแสงแดดและนิสัยของแก่แต่ละตัวด้วย ผู้เลี้ยงไก่ต้องคอยสังเกตดูว่าขณะที่กราดแดดอาการเป็นอย่างไร ถ้าเราเห็นว่าไก่ขนแห้งแล้วเริ่มอ้าปาก แสดงอาการหอบแล้วเดินรอบๆ สุ่มก็ควรนำไก่มาปั่นคอด้วยขนไก่แล้วนำเข้าร่ม พอหายหอบแล้วจึงเอาน้ำให้กิน ถ้าเราปล่อยให้ตากแดดหอบมากไปอาจตายได้ ถ้าไม่ตายก็จะแพ้ไก่ง่าย ดังนั้นการกราดแดดควรให้พอดี ถ้ากราดมากจะเกิดโทษมากกว่ามีประโยชน์

ที่มา

นิสิต  ตั้งตระการพงษ์.  (2542).  ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช : เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง.
          พิษณุโลก : โรงพิมพ์ตระกูลไทย.
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก.  (2548).  ไก่ชนนเรศวร  สัตว์เอกลักษณ์  เมืองพิษณุโลก.
          พิษณุโลก : สำนักงาน.