ที่มา

Phuketaquarium.  (2564).  ปลาก้างพระร่วง.สืบค้น. https://phuketaquarium.org/knowleadge/glass-catfishqrcode/.
กรมประมง. (2552).  ปลาประจำหน่วยงาน. https://https://bit.ly/3B3WwSN.
ปลาก้างพระร่วง ประโยชน์ และการเลี้ยงปลาก้างพระร่วง. (2560).  https://bit.ly/3joMBBd.

ประวัติความเป็นมา

ปลาก้างพระร่วง

มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาแต่ก่อนว่า ครั้งหนึ่งพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสแล้วชาวบ้านนำพระกระยาหารมาถวาย ซึ่งมีปลารวมอยู่ในพระกระยาหารนั้นด้วย พระร่วงเสวยปลานั้นแล้วทรงนำก้างปลาไปลอยน้ำแล้วตรัสว่า เจ้าก้างปลาตัวน้อยจงกลับมีชีวิตแล้วว่ายน้ำไปด้วยวาจาสิทธิ์ ปลาตัวดังกล่าวก็กลับมีชีวิตขึ้นใหม่จริง ๆ จึงได้ชื่อว่า “ก้างพระร่วง” นับแต่นั้น ก้างปลานั้นก็เลยกลายเป็นปลาชนิดหนึ่งแหวกว่ายอยู่ในกระแสน้ำและสืบพันธุ์มาตราบจนทุกวันนี้ นอกจากชื่อปลาก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น “ปลาผี”, “ปลาก้าง”, “ปลากระจก”, “ปลาเพียว” เป็นต้น

ถิ่นที่อยู่

ปลาก้างพระร่วงชอบอาศัยอยู่ตามลำธารที่มีน้ำไหล บริเวณแนวร่มไม้ชายคา โดยลอยตัวอยู่เป็นฝูงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากเนื่องจากมีลักษณะแปลกตาดูสวยงามว่ายน้ำได้ปราดเปรียว พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำในภาคเหนือพบที่จังหวัดสุโขทัย ภาคกลางพบที่จังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด ภาคใต้พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การดำรงชีวิต

ปลาก้างพระร่วงชอบความสงบเงียบ  อยู่รวมกันเป็นฝูงจำนวน 100 ตัวขึ้นไป ชอบเกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิมเวลากลางวันจะหลบอาศัยอยู่ตามกอไม้น้ำ  พอตกกลางคืนจึงชวนกันออกหากิน  อาหารในธรรมชาติของปลาชนิดนี้ได้แก่ แพลงก์ตอน ตัวอ่อนแมลงน้ำ  ลูกน้ำ  และสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพราะเป็นปลารักสงบไม่รบกวนปลาชนิดอื่น

ลักษณะ

ปลาก้างพระร่วง มีลักษณะ
          หัว หัวเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต มีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกบนขากรรไกรบน ส่วนคู่ที่ 2 อยู่บนขากรรไกรล่าง มีขนาดสั้น โดยหนวดคู่บนจะยาวกว่าคู่ล่างมาก
          ลำตัว ลำตัวเรียวยาว  ไม่มีเกล็ด แบนข้างคล้ายปลาเนื้ออ่อน แต่มีขนาดเล็ก ลำตัวมีลักษณะโปร่งใส  สามารถเห็นโครงกระดูกภายใน  หากส่องด้วยแว่นขยายจะมองเห็นหัวใจปลาเต้นได้ และถ้ามีแสงกระทบในมุมที่ถูกต้องก็จะเห็นตัวปลาเป็นสีเหลือบรุ้ง ส่วนหัวและกระเพาะอาหารที่ทึบแสง
          ครีบ ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนมองไม่เห็น ครีบอกใหญ่ ครีบก้นยาวจนถึงครีบหางครีบ  หางเล็กเป็นแฉกลึก
          ขนาด ขนาดทั่วไปปกติอยู่ที่ราว 6.5 ซม. แต่อาจพบยาวได้ถึง 8 -10ซม. สูงสุดไม่เกิน 15 ซม.
          การสืบพันธุ์  ปลาก้างพระร่วงสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยในธรรมชาติจะวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ลูกปลาเมื่อฟักออกจากไข่จะมีลักษณะเดียวกันจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย