การเลี้ยงดู

การเลี้ยงไก่ชน
        ผู้เลี้ยงไก่ชน หรือผู้เริ่มเลี้ยงไก่ชนต้องศึกษาหาความรู้จากนักเลงไก่ชน จากผู้รู้ หรือมีประสบการณ์มาก่อน จะเป็นการดีสำหรับการเรียนรู้อย่างไรก็ตาม ให้ถือหลักที่ว่าให้พ่อพันธุ์ที่ถูกต้องตามลักษณะพันธุ์และลักษณะชั้นเชิง หรือลีลาการชนอย่างที่เราชอบ พ่อพันธุ์จะถ่ายทอดกรรมพันธุ์ทั้งสองนี้ คือ สีและชั้นเชิงการชน ส่วนแม่พันธ์ต้องหาให้เข้าตำราเช่นกัน คือ ไก่ดอก (ขนทั้งตัวดำปลายขนมีจุดขาว) หรือไก่กระ และต้องหาจากเหลาที่มีความน้ำอดน้ำทน กำลังใจดีสู้ไม่ถอย ซึ่งแม่พันธุ์จะถ่ายทอดพันธุกรรมในเรื่องนี้ในการเลือกหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ให้ดูขนหูด้วยเพราะว่าสีขนหูจะบอกถึงสีทั้งตัวของไก่

 อาหาร
                สำหรับการเลี้ยงมี 2 ลักษณะ คือการเลี้ยงแบบขังไม่ค่อยปล่อยควรจะให้อาหารสำเร็จเสริมด้วย ผักผลไม้ต้องมีให้ไก่กิน การเลี้ยงแบบปล่อยเลี้ยงจะหากินเองได้ถ้าเลี้ยงขังต้องให้กินวิตามินรวม น้ำมันตับปลาด้วย
                ไก่ต้องการอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจ เดิน วิ่ง และการกินอาหาร ใช้ในการสร้างกระดูก เนื้อ หนัง ขน เล็บ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ใช้ในการสร้างไข่ และผลิตลูกไก่ ดังนั้น การที่ไก่จะเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรง และให้ไข่มาก ไก่ จะต้องได้กินอาหารเพียงพอ และได้กินอาหารดี โดยสม่ำเสมอทุกวัน ไก่ต้องการอาหารประเภทใดบ้าง ความต้องการอาหารของไก่คล้ายกับคนมาก ไก่ต้องการอาหารทั้งหมด 6 อย่าง คือ
                อาหารประเภทแป้ง เพื่อนำไปสร้างกำลัง ใช้ในการเดิน การวิ่ง อาหารประเภทนี้ได้จากรำ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวเปลือก กากมันสำปะหลัง

 อาหารประเภทเนื้อ เพื่อนำไปสร้างขน เล็บ เลือด เนื้อหนัง อาหารประเภทนี้ได้จากแมลง ไส้เดือน ปลา ปลาป่น

        อาหารประเภทไขมัน นำไปสร้างความร้อนให้ร่างกาย อบอุ่นได้จากกากถั่ว กากมะพร้าว ไขสัตว์ น้ำมันหมู กากงา

        อาหารประเภทแร่ธาตุ ไก่ต้องการอาหารแร่ธาตุไปสร้างกระดูก เลือด และเปลือกไข่ แร่ธาตุต่าง ๆ ได้จากเปลือกหอยป่น กระดูกป่น

        อาหารประเภทไวตามิน สร้างความแข็งแรง และกระปรี้กระเปร่าแก่ร่างกาย สร้างความต้านทานโรค และ บำรุงระบบประสาท มีในหญ้าสด ใบกระถิน ข้าวโพด รำข้าว ปลาป่น

น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อร่างกาย ถ้าขาดน้ำไก่จะตายภายใน 24 ชั่วโมง ต้องมีน้ำให้ไก่ กินตลอดเวลา การปล่อยให้ไก่หาอาหารเองตามธรรมชาติจนเคยชิน ทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าไก่กินรำและปลายข้าวและอาหารตามธรรมชาติก็ เป็นการเพียงพอแล้วแต่การที่จะเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดีนั้นเกษตรกรจะต้องให้การเอาใจใส่เรื่องอาหารและน้ำให้มากขึ้นโดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
                1. ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน
                2. ให้อาหารผสมทุกเช้าเย็นเพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ

        3. ให้อาหารไก่หลาย ๆ ชนิดผสมกัน เช่น ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพดป่น ปลาป่น  ข้าวเปลือก กากถั่ว กากมะพร้าว หัวอาหารไก่สำเร็จรูปชนิดเม็ดหรือชนิดผง
                4. มีเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่นตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินตลอดเวลา
                5. ให้หญ้าสด ใบกระถิน หรือผักสดให้ไก่กินทุกวัน
                6. ในฤดูแล้ง ไก่มักจะขาดหญ้ากินเกษตรกรควรปลูกกระถินไว้บริเวณใกล้ๆ คอก วิธีปลูกนั้นให้นำเมล็ดกระถินมาลวกด้วยน้ำร้อนนาน 2 ถึง 3 นาที แล้วนำไปแช่น้ำเย็น เสร็จแล้วจึงนำไปเพาะในดินใส่ถุงพลาสติก จนกระทั่งต้นกระถินสูงประมาณ 1 เมตรจึงย้ายไปปลูกเป็นแถวหรือแนวรั้ว เมื่อต้นกระถินติดดีแล้ว ควรตัดให้ต้นต่ำ ๆ เพื่อไก่จะได้กินถึงหรือจะคอยตัดให้ไก่กินก็ได้ นอกจากนั้นเราอาจเพาะข้าวเปลือกหรือถั่วเขียวให้ไก่กินก็ได้ การเพาะถั่วเขียวให้เอาเมล็ดถั่วเขียวแช่เย็นไว้ 12 ชั่วโมง ล้างใส่ไหคว่ำไว้หมั่นรดน้ำทุก 2-3 ชั่วโมง พอครบ 3 วันก็เอาออกให้ไก่กินได้ ถั่วเขียว 4 กระป๋องนมให้แม่ไก่กินได้ประมาณ 100 ตัว
                7. การใช้หัวอาหารไก่สำเร็จรูปผสมลงในรำข้าวหรือปลายข้าวเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด เนื่องจากเกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายและผสมได้สะดวกเป็นวิธีที่จะเสริมให้ไก่เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น
                8. การสังเกตว่าไก่ได้อาหารเพียงพอหรือไม่ให้ดูว่าในระยะแรกที่ให้อาหารไก่จะรีบกินและมีการแย่งกัน ถ้าไก่กินอาหารไปเรื่อย ๆ และเลิกแย่งกันกินอาหารช้าลง มีการคุ้ยเขี่ย แสดงว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอแล้ว

                9. อาหารไก่ชน โดยทั่วไปแล้วนิยมให้กินข้าวเปลือก ซึ่งต้องล้างน้ำให้สะอาดและต้องเป็นข้างเปลือกข้าวเจ้าด้วย บางรายต้องการให้ไก่มีกำลัง เอาข้าวเปลือกล้างน้ำตากให้แห้งคลุกด้วยไข่ไก่ ให้ไข่แดงไข่ขาวจับติดเม็ดข้าวเปลือกแล้วจึงตากให้ จึงนำมาให้ไก่กิน

วัคซีน
                วัคซีนต้องทำตามกำหนด โรคนิวคาสเซิล ต้องหยอดจมูกแรกเกิด 1-3 วัน 1 ครั้ง ทำซ้ำเมื่ออายุ 1 เดือน และจากนี้ทำทุกๆ 3-4 เดือน  โรคฝีดาษต้องปลูกฝีเมื่ออายุได้ 7 วัน  ทำครั้งเดียวได้ตลอดชีวิต โรคอหิวาต์ มักทำให้ไก่ชนที่เหงาตาย หรือตกคอนตาย หรือมีอาการหน้าดำและขี้ขาวตาย ต้องป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเข้ากล้ามเนื้ออกป้องกันได้ 3-4 เดือน และแม่ไก่มักตายเมื่อเริ่มไข่ ควรฉีดวัคซีนป้องกันด้วย
        การผสมพันธุ์
                การเลี้ยงพ่อไก่และแม่ไก่ในระหว่างผสมพันธุ์ต้องให้อาหารอย่างสมบูรณ์ และควรเลี้ยงในคอกผสมพันธุ์ในสุ่มก็ได้ โดยให้ผสมพันธุ์พ่อไก่ 1 ตัวต่อแม่พันธุ์ 2 ตัว ปกติให้ผสมพันธุ์ตัวต่อตัว เมื่อเห็นพ่อไก่ผสมพันธุ์แล้วควรแยกออกจากัน แล้วปล่อยพ่อไก่เข้าผสมอีกวันละ 3 เวลา หรือ 3 ครั้งก็พอ ทำเช่นนี้จนแม่ไก่ฟักไข่


                การคัดเลือกพ่อพันธุ์
                1. ต้องมีลักษณะเข้าตำราไก่ชนพระนเรศวรฯ
                2. ต้องเป็นไก่ชนที่ไม่เคยแพ้มาก่อน
                3. อายุพ่อไก่ต้องตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และอายุไม่เกิน 3 ปี
                การคัดเลือกแม่พันธุ์
                1. มีลักษณะเข้าตำราไก่ชนพระนเรศวรเช่นกัน
                2. แม่พันธุ์ที่ดีควรให้ลูกมาแล้วสัก 2 คอก แต่อายุไม่แก่เกินไป
                3. ควรใช้แม่พันธุ์ไม่เกิน 3 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว

รังฟักไข่
                ผู้เลี้ยงควรจัดหาลัง กล่องหรือตะกร้า หรือใช้ไม้ไผ่ผสานเป็นรังไก่แล้วใช้ใบไม้หรือใบหญ้าแห้งไปพอประมาณ ปกตินิยมใช้ฟางแห้งใส่ไปในรังไก่ รังไก่นี้ควรเอาใบหญ้าหรือฝางเผาทิ้งทุกครั้ง เมื่อแม่ไก่ฟักไข่ออกมาแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดไรไก่ หากพบไรไก่ในแม่ไก่ให้ใส่แป้งฝุ่นฆ่าเห็บเหาไร ซึ่งใช้กับสุนัขนำมาใช้ได้ หรือจะใช้ในตะไคร้แห้งรองพื้นรังไก่ ก็สามารถป้องกันไรไก่ได้ดีเช่นกัน
        การคัดเลือกไข่ฟัก
                ปกติไก่ชนจะให้ไขประมาณ 12-18 ฟอง แต่การฟักไข่นั้นต้องขึ้นอยู่กับขนาดแม่ไก่ หากแม่ไก่มีขนาดใหญ่ ขนปีหนา ก็จะฟักไข่ได้หลายฟองโดยทั่วไปแล้วจะให้แม่ไก่ฟักไข่ประมาณ 8-15 เท่านั้น ไข่ที่คัดฟักนั้นต้องสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยว ผิวเปลือกเรียบ ตำราไก่ชนทุกฉบับกล่าวถึงการคัดเลือกไข่ตัวผู้ ตัวเมียไว้ดังนี้ ไข่ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าไข่ตัวเมียหรือมีน้ำหนักมากกว่า และพบว่าตรงกลางไข่กลมแล้วเรียวไปทั้ง 2 ข้าง ส่วนไข่ตัวเมียจะมีขนาดเล็ก และเบากว่าไข่ตัวผู้ ด้านหนึ่งจะเรียวอีกด้านจะป้าน ลูกไก่จะออกจากไข่เมื่อฟักได้ 21 วันแต่เมื่อแม่ไก่เริ่มฟักได้ 3 วัน ควรส่องไข่หาจุดเลือด หากไม่มีถือว่าไข่ใบนั้นไม่มีเชื้อให้นำไปรับประทานได้และตรวจส่องไข่ เมื่อไก่ฟักไข่ได้ 7 วัน จุดเลือดจะขยายใหญ่ขึ้น หากจุดเลือดไม่ขยายใหญ่ยังมีขนาดเท่าเดิม เหมือนเมื่อไก่ฟักได้ 3 วัน ถือว่าไข่ตายโคมให้คัดออกมาได้

                การเลี้ยงลูกไก่
                การเลี้ยงลูกไก่แบ่งได้ 3 ระยะ คือ
                        1. ระยะแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ลูกไก่เกิดจนถึงอายุ 3 อาทิตย์ เป็นระยะที่ลูกไก่ต้องการความอบอุ่น ควรขังลูกไก่ให้อยู่กับแม่ในสุ่ม ให้น้ำสะอาดกินตลอดเวลา อาหารลูกไก่ ควรเป็นปลายข้าวหรือข้าวโพดป่นและเสริมด้วยทรายสะอาดให้กิน
                        2. ระยะ 3-8 อาทิตย์ ควรปล่อยให้แม่ไก่พาลูกออกมาหากินโดยอิสระตามลานบ้าน มีกองทรายและกองหญ้าหรือกองใบไม้ ให้แม่ไก่และลูกไก่คุ้ยเขี่ยหาตัวแมลงกินน้ำสะอาดต้องมีไว้ให้ลูกกิน และควรให้ลูกไก่ฝึกหัดกินข้าวเปลือก และมีผักสดให้ลูกไก่กิน หรือกินใบหญ้าก็ได้ ลูกไก่จะหาแมลงหรือไส้เดือนกิน และรู้จักกินผลไม้สุกด้วย เช่น มะละกอสุก ช่วงนี้ต้องทำคอนเตี้ยๆ ให้ลูกไก่ขึ้นเพื่อสร้างกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง
                        3. ระยะไก่กระทง อายุลูกไก่ 2-4 เดือน เป็นระยะที่ลูกไก่จะจากแม่เป็นอิสระลุกไก่จะเริ่มจิกตีกัน แต่อย่าปล่อยให้ลูกไก่ตีกัน ควรจะแยกกันมิฉะนั้น ลูกไก่จะมีตำหนิที่หน้าทำให้ขายไม่ได้ราคา เพราะบางตัวจะจิกตีกันจนหัวแตก ตาฉีก ในช่วงนี้เมื่ออาหารอย่างสมบูรณ์แล้วลูกไก่บางตัวยังผอมต้องถ่ายพยาธิ และในช่วงนี้จะคัดไก่ดูให้เข้าลักษณะตำราไก่ชนพระนเรศวร และตีเบอร์ทำประวัติไก่ไว้
        การสร้างเล้าไก่
                การสร้างคอกหรือเล้าเพาะพันธุ์ไก่ชน ขึ้นอยู่กับขนาดจำนวนไก่ต้องถือหลักว่าโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี พื้นต้องไม่ชื้น ต้องรองด้วยแกลบหรือขี้กบให้หนา เพื่อให้พื้นนุ่มหนา  การสร้างเล้าไก่ควรสร้างให้มีลักษณะกันแดดกันฝนได้ ต้องกว้างพอประมาณและสูงขนาดเดินเข้าไปในเล้าได้ เล้าไก่ต้องห่างจากบ้านพอประมาณ และอยู่ในที่สูงเพื่อป้องกันการชื้นแฉะในหน้าฝน ไม่ควรสร้างใต้ต้นไม้เพราะไก่ชอบนอนที่สูงจะไม่เข้าเล้าแต่จะนอนบนต้นไม้แทนพื้นเล้าต้องปูด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือทรายก็ได้ ต้องทำความสะอาดพื้นเล้าอยู่เสมอในเล้าควรมีขวดใส่น้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา ต้องทำคอนให้ไก่นอนและมีรังไก่ไว้ให้แม่ไก่ไข่ด้วย ในปัจจุบันควรทำมุ้งกันยุงด้วยหรือแมลงให้ไก่ก่อน หรือติดมุ่งรอบเล้าก็ได้ จะทำให้ไก่ถูกรบกวนโดยแมลง ไก่จะนอนหลับทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และป้องกันโรคฝีดาษได้ด้วย
        ยาบำรุงไก่ชน
                ตำรับที่ 1 ใช้บอระเพ็ดหั่นเป็นชิ้นบางๆ แช่น้ำผึ้งเดือนห้าให้กินทุกวัน
                ตำรับที่ 2 หัวไพร่ เจตมูลเพลิง ผักคราดหัวแหวน ตำให้ละเอียดนำมาผสมน้ำผึ้งเดือนห้าปั้นเป็นลุกกลอนให้กิน
                ตำรับที่ 3 ให้กินลูกเขียนขนาดโตพอประมาณหรือลูกหนูแดงๆ ไม่มีขน จิ้งจกหรือลูกปลาวันละตัว ทำให้มีกำลังวังชาแข็งแรง ถ้าหากหายากอาจให้เนื้อสดวันละชิ้นขนาดเท่านิ้วก้อยก็พอ
                ตำรับที่ 4 ใช้ข้าเหนียวเผาจนดำตำพริกสุก หอยขมใส่ปลาป่นและน้ำอ้อย ปั้นเป็นลูกกลอนให้กิน
                ตำหรับที่ 5 ใช้กระชาย พริกไทย ดีปรี และตระไคร้ ตำให้แหลกนำมายัดใส่ปากปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว ใส่ไปให้เต็มท้องแล้วแล้วนำปลาช่อนมาปิ้งให้สุกแล้วตำหรือโขลกทั้งตัวให้แหลก ผสมน้ำผึ้งเดือนห้า ปั้นเป็นลูกกลอนให้ไก่กินตำหรับนี้นอกจากบำรุงกำลังแล้วยังทำให้ปีกไก่แข็งแรงและบินสูง
                ตำหรับที่ 6 ใช้บอระเพ็ด กระชาย กระเทียม ปลาช่อน นกกระจอก ยาดำ หัวแห้วหมู พริกไทย (หน้าร้อนไม่ใช้) น้ำผึ้ง ใช้ตัวยาทุกอย่าง เท่า ๆ กัน บดละเอียด ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนให้กินก่อนนอนทุกวัน ทำให้ไก่แข็งแรง
                ตำหรับที่ 7 เป็นยาบำรุงเสริม ใช้หญ้าแพรกบดให้ละเอียด ตากลมให้แห้งพอหมาดๆ แล้วผสมขมข้น ปั้นเป็นลูกกลอนให้ไก่กินก่อนนอน ทำให้แข็งแรงและทำให้บินเก่ง

ประวัติความเป็นมา

         ชนไก่ หรือ ตีไก่ เป็นที่นิยมเผยแพร่ในประเทศแถบเอเชีย ของเรามายาวนาน คือ ไทย พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และอินโดเนียเซีย กีฬาชนไก่ได้แพร่หลายไปอีกหลายประเทศของโลก ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการชนไก่เช่นกัน เชื่อกันว่า ไก่ชนคงพัฒนามาจาก “ไก่ป่า” ซึ่งมีคนนำมาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารประจำบ้าน เมื่อไก่ป่ามาอยู่กับคนนานเข้าก็แพร่ลูกหลานเป็นจำนวนมาก

                นิสัยของไก่ประจำตัวคือ หวงถิ่นที่อยู่ ถ้ามีตัวอื่นข้ามถิ่นมาก็จะออกไปปกป้องตีกันหรือเมื่อมีการแย่งผสมพันธุ์กับตัวเมียไก่ตัวผู้ก็จะตีกัน ซึ่งจะเริ่มหางไก่กันระหว่างเจ้าของไก่ จึงมีการพนันเกิดขึ้นด้วย นิสัยของคนไทยหรือนักเลงไก่ชนต้องการจะเอาชนะผู้อื่นจึงมีการพัฒนาไก่ป่าเรื่อยมาจนเป็น “ไก่อู” ซึ่งเป็นต้นตระกูลไก่ชนไทยสมัยแรกๆ ไก่อูมีหลายสีขนาดใหญ่ แต่รูปร่างปราดเปรียว ไข่ดก มีเนื้อมาก เมื่อนำมาเป็นไก่ชนจะทรหดอดทน แข็งแรงชนได้ดี ทนทานในการต่อสู้การผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาไก่ชนให้ชนเก่ง นักเลงไก่ชน ต้องคัดเลือกศึกษาไก่ชนเก่ง ถึงมีลักษณะทั่วไป สีขน สร้อย โดยเฉพาะบริเวณแข้งและนิ้วเท้าจึงเกิดเป็นตำราไก่ชนบอกเล่าต่อๆกันมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาก็ทำการบันทึกหลักฐานไว้ ดังนั้นตำราไก่ชนจึงไม่ได้สูญหายไปไหนมีการถ่ายทอดมาโดยตลอด และมีการเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    หนังสือไก่ชนของ เกรียงไกร ไทยอ่อน เขียนไว้ว่า ไก่ชนไทยพัฒนามากกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีพันธุ์ไก่ชนเป็นจำนวนมาก ที่นักเลงไก่ชนได้ผสมพันธุ์ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือ ให้ได้ไก่เก่งเพื่อนำไปชนชนะไก่อื่นๆ แยกตามสีดังนี้ คือ ไก่เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เขียวเลา เทาทอง และไก่ลาย นักเลงไก่ชนหลายท่านบอกว่า ไก่ชนสมัยแรกๆ นั้น มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ ประดู่ไก่ป่า (ประดู่หางดำ) และไก่เหลืองหางขาว

        จากหนังสือพระมหากษัตริย์ของ ประกอบ  โชประการ (2519 : หน้า 208)  วันหนึ่งได้มีการตีไก่ขึ้นระหว่างสมเด็จพระนเรศวรฯ กับไก่ของมังชัยสิงห์ราชนัดดา (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช) ไก่สมเด็จพระนเรศวรตีชนะมังชัยสิงห์ มังชัยสิงห์จึงขัดเคืองตรัสประชดประชันหยามหยันออกมาอย่างผู้ที่ถือดีว่ามีอำนาจเหนือกว่าว่า “ไก่เฉลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” ถ้าไม่ใช่คนเหี้ยมหาญแกว่นกว้า ไม่ใช่คนสู้คนทุกสถานการณ์ก็คงจะได้แต่รับฟังหรือเจรจาโต้ตอบไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่สมเด็จพระนเรศวรไม่ใช่คนเช่นนั้น ทรงเป็นวีรขัติชาติที่ทรงสู้คนทุกสถานการณ์จึงโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า
        “ไก่เชลยตัวนี้อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่างวันนี้เลยตีพนันบ้านเมืองกันก็ยังได้”

พ.ต. พิทักษ์  บัวเปรม (ข้าราชการบำนาญ) ได้บันทึกไว้ว่าเมื่อปี 2500 ท่านได้อ่านตำราสมุดข่อย เชื่อแน่ว่าไก่ที่พระนเรศวรฯ ทรงนำไปชนกับพม่านั้นนำไปจาก “บ้านกร่าง” เดิมเรียกว่า “บ้านหัวแท” ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ความเห็นนี้ทางตรงกับการศึกษาของ พล.ต.ต. ผดุง สิงหเสนีย์ ด้วย “บ้านกร่าง” อำเภอเมืองพิษณุโลก แดนไก่ชนนเรศวร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไทยโบราณ ปัจจุบันพบซากปรักหักพังและวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มายาวนาน ผู้คนในหมู่บ้านยังสืบทอดขนบธรรมเนียม มาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือมีงานเทศกาลต่างๆ ก็นัดชนไก่กัน ณ บ่อนไก่ชนประจำหมู่บ้าน

สมุนไพรสำหรับไก่

สมุนไพรสำหรับเลี้ยงไก่ชน

ขมิ้นชัน
                ชื่ออื่นๆ : ขมิ้นทอง / ขมิ้นไข / ขมิ้นดี / เข้ามิน / ขมิ้นป่า / ขมิ้นหัก / ขมิ้นหยวก /ขมิ้นแดง / ขี้มิน / ตายอ / พญาว่าน
                ส่วนที่ใช้ : ลำต้นใต้ดินนำมาลวกน้ำร้อนหรือต้มกับน้ำเดือนแล้วนำมาตากแดดให้แห้งสนิท

ประโยชน์กับไก่ชน
                1. นำผงขมิ้นมาผสมกับปูนแดงที่กินหมาก แล้วทาไปที่ผิวหนังของไก่ชนจะช่วยแก้โรคผิวหนังได้ ทำให้ผิวหนังหนาแดงสมบูรณ์ดี ทางผิวหนังและขนไก่ชนทั้งตัวจะป้องกันตัวเห็บและไรไก่ที่จะกินเลือดไก่ได้ ป้องกันผื่นคันตามผิวหนังได้
                2. ไก่ชนเมื่ออกกำลังหรือเข้าชนไก่จะคออักเสบใช้ขมิ้นชันชุบด้วยขนไก่อ่อนๆ(หางพัด) ปั่นคอจะแก้เสมหะที่มีมากๆ ได้
                3. ไก่ที่ผอมแห้ง ผอมเหลือง เป็นไข้เรื้อรัง ให้ขมิ้นกินลงไปจะแก้ได้และขับลมได้ด้วย แก้โรคท้องร่วงได้ดี
                4. ไก่เจ็บตา ตาแดง ตาบวม ใช้หยอดตาจะทำให้หาย ถ้าไก่ชนถูกตีมาเป็นแผลใช้ผงขมิ้นชันผสมปูนแดงกินกับหมาก ทา 3-4 วัน ก็จะหาย
                5. ใช้ดับกลิ่นและสิ่งสกปรกในตัวไก่ชน ไก่ชนที่จับมาไม่เคยอาบน้ำเลยจะมีกลิ่นสาบ ถ้าทาด้วยขมิ้นแล้วจะมีกลิ่นหอม

บอระเพ็ด

        ชื่ออื่นๆ : จุ้งจาลิง(ภาคเหนือ) / เจตมูลย่าน (ภาคเหนือ) / เครือเขาช่อ(หนองคาย) / เครือกอฮอ

        ส่วนที่ใช้ : บอระเพ็ดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาเป็นปุ่มขรุขระตลอดเถาลำต้นกลวง ใบกลมโต ปลายแหลม ปลูกง่ายโดยใช้เถาชำตามคบไม้ ดอกสีเหลืองเล็กๆ เป็นช่อตามเถา มีตามป่ารกร้างทั่วไป การนำมาใช้ได้ทั้งเถาและใบ

 ประโยชน์กับไก่ชน
                1. ต้นและเถาบอระเพ็ด มีสารรสขม เมื่อไก่ชนกินเข้าไปแล้ว จะช่วยให้การเจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ไขมาลาเลีย ไข้ฝีดาษ ไข้ทุกชนิดและยังแก้ร้อนใน
                2. เถาและใบลดน้ำตาลในเลือด ขับพยาธิไก่ชน ทำให้อาเจียนเมื่อกินสารพิษต่างๆ
                3. รากและเถาบอระเพ็ดตำผสมกับมะขามเปียกและเกลือจะแก้ไขลดความร้อนในตัวไก่
                4. เถาบอระเพ็ดผสมกับน้ำมะพร้าวให้ไก่กิน แก้โรคข้อบวมไก่ชนได้

ตำลึง

ส่วนที่ใช้ : เถาและใบ ตำลึงเป็นพืชจำพวกเถา ใช้เป็นอาหารประจำวันที่มีคุณค่าสูง ตำลึงทั้งเพศผู้และเพศเมียขึ้นอยู่ตามป่า เกาะตามต้นไม้ใหญ่ทั่วไป
                ประโยชน์ที่ใช้กับไก่ชน
                1. เถามีน้ำที่ช่วยให้ไก่เจ็บตาหายได้ โดยการนำเอาเถามาตัดเป็นท่อน แล้วเป่าน้ำในเถาใส่ตาไก่ วันละ 2-3 ครั้ง ตาไก่ที่เจ็บจะค่อยๆ หาย
                2. ใบตำลึงนำมาตำแล้วไปพอกส่วนของบาดแผลของไก่ที่ถูกตี หรือถูกของแข็งตามตีนไก่หรือข้อขาไก่ จะช่วยถอนพิษอักเสบได้
                3. น้ำในใบและเถาตำลึงให้ไก่กินจะช่วยกระเพาะไก่ที่อาหารย่อยการทดลองใช้น้ำตำลึงฉีดเข้าเส้นเลือดจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับฮอร์โมนอินซูลีน
                4. รากตำลึงมีความเย็น ไก่กินแล้วจะช่วยแก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้ดับพิษร้อนทั้งปวง

โรคของไก่

        โรคของไก่ชน
                1. แข้งผุ  จะพบว่าที่เกล็ดแข้งไก่ทั้งตัวผู้และตัวเมียขยายตัวพองหน้าขึ้นสามารถแกะออกเป็นแผ่นๆ ลอกได้รอบแข้งโดยไม่มีเลือดออก
                        สาเหตุ  เกิดจากหมัดชนิดหนึ่งฝังตัวที่เกล็ดแล้วเจริญเติบโตสามารถติดต่อไปยังตัวอื่นๆ ได้
                        การรักษา  แกะเกล็ดออกให้หมด แล้วใช้น้ำยาที่ละลายฆ่าแมลง หรือฆ่าหมัดหาก็ได้ล้างเช็ดทุกวันก็หาย ถ้าไม่มียาเลยก็ล้างแข้งถูด้วยน้ำมันก๊าดให้หมัดตายก็หาย เมื่อพบว่าไก่เป็นในเล้า อาจมีหมัดหลุดไปติดต่อตัวอื่นๆ ให้ล้างเช็ดแข้งหรือเอาแข้งไก่แช่ในน้ำยาละลายฆ่าแมลงที่มีขายในท้องตลาดก็ได้         
                2. ปรวด จะพบก้อนแข็งที่ปาก คอ หน้าอก หรือลำตัว ขนาดเล็กจนถึงโตขนาด 1-2นิ้ว ถ้าพบว่าที่ปากจะส่งกลิ่นเหม็นส่วนตรงที่บวมแข็งที่ใบหน้าจะแดงเหมือนไก่ปกติแต่มักจะพบเฉพาะไก่ตัวผู้
                        สาเหตุ  
เกิดจากไก่ตีกันจนถูกแทงแผลลึก หรือถูกตีจนห้อเลือดทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่สามารถรีดหรือเอาน้ำเลือดออดจนหมด ทำให้เชื้อเข้าไปเกิดเป็นหนองข้างในแผล หนองนี้ไม่ได้รับการผ่าออก จึงเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแข็ง ไก่ที่เป็นปรวดนี้จะไม่แสดงอาการป่วย คือหงอยเหงา กลับแสดงอาการปกติ   
                        การรักษา
 มีวิธีเดียวคือ ผ่าเอาออก จะพบว่ามีก้อนหนอง ต้องดึงออกให้หมดและต้องขุดแผลให้สะอาดไม่ให้มีเศษหนอง หรือเศษเนื้อเสียติดอยู่ แล้วล้างแผลให้สะอาดใส่ยาปฏิชีวนะล้างแผลทุกวันจนกว่าจะหาย                                                                         
                3. ขี้ติดก้น (ถ่ายไม่ออก) จะพบอาการไก่เบ่งถ่ายแล้วส่งเสียงร้อง แต่ถ่ายไม่ออก จะแสดงอาการอย่างนี้วันละหลายๆ ครั้ง ถ้าหากเจ้าของไก่ไม่ใส่ใจดูแล จะดูเหมือนว่าไก่ไม่ป่วยไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสังเกตแล้วจับไก่มาดูจะพบว่ามีก้อนขี้ติดก้นถ่ายไม่ออก เป็นก้อนแข็งใช้ไม้แคะไม่ออก ถ้าปล่อยเอาไว้ไก่แสดงอาการเบ่งและส่งเสียงร้อง
                        สาเหตุ
  เกิดจากการให้อาหารหยาบมากเกินไป และให้น้ำกินน้อยไป อาหารหยาบดังกล่าว เช่น กินแต่ข้าวเปลือกอย่างเดียว การบดย่อยไม่หมดไม่แหลกมีกากมาก และแข็งประกอบกับกินน้ำน้อยทำให้ขี้แข็งถ่ายลำบากนานเข้าก็รวมกันเป็นก้อนแข็งใหญ่ติดก้นจนถ่ายไม่ออก
                        การรักษา
 ขั้นแรกต้องสวนทางก้นด้วยน้ำสบู่แล้วใช้ลูกยางดูดน้ำสบู่บีบเข้าไปล้างให้ก้อนขี้ยุ่ยหรือแตกออกมา เพราะความลื่นของน้ำสบู่หรือซื้อยาสวนทวารของคนมาบีบสวนเข้าไปขี้จะละลายหลุดออกมา เมื่อเอาขี้ออกมาแล้วต้องให้ไก่กินอาหารนิ่มแต่น้อยก่อน เช่น ข้าวสุก กล้วย และเม็ดทรายให้ไก่กินเพื่อไปช่วยย่อยที่กระเพาะบด(กึ้น)
                4. หน่อ เป็นโรคที่ฝ่าเท้าไก่เป็นแผลเรื้อรังเดินแล้วเจ็บ บางครั้งพบเกิดการอักเสบทั้งข้อเท้า บางตัวเกิดที่ข้อนิ้วเท้าและฝ่าเท้าแล้วลามไปที่ข้อเท้า ถ้ายังไม่เรื้อรังจะพบฝ่าเท้าแล้วลามไปที่ข้อเท้า ถ้าเป็นเรื้อรังจะพบฝ่าเท้าเป็นแผลเก่าไก่จะเดินเขยก
                        สาเหตุ  เกิดจากไก่เป็นรองช้ำที่ฝ่าเท้าเนื่องจากการเลี้ยงไก่ให้นอนที่คอนสูงตอนเช้าบินลงมาที่พื้นแข็งหรือให้ไก่ชนบินขึ้นลงๆมากๆ จึงเกิดรองช้ำที่ฝ่าเท้าเมื่อมีเชื้อเข้าไปจะเกิดการอักเสบทั้งข้อเท้าจนแผลแตกเป็นแผลเรื้อรัง
                        การรักษา  ยังไม่มียารักษาหรือวิธีรักษาอย่างใดที่ได้ผลแน่นอนทั้งผ่าตัดทั้งจี้ก็ไม่หาย เพราะว่าเป็นการอักเสบที่เอ็นอุ้งเท้า การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาการอักเสบเท่านั้นที่ทำให้หายขาดแต่สามารถป้องกันได้โดยพื้นคอนไก่ชนต้องนิ่ม ถ้าไก่นอนสูงพื้นยิ่งต้องนิ่ม ยางรายใช้พื้นกำมะหยี่เก่าหมดสภาพ จะทำให้พื้นแข็ง จึงควรหมั่นทำความสะอาดด้วย สังเกตดูถ้าพบการรองช้ำระยะเริ่มต้นจะรักษาหายได้
                5. โรคบิด พบได้เสมอตลอดทั้งปี จะพบไก่ขี้เป็นเลือด ถ่ายเหลวปนเลือดไก่จะตาย เนื่องจากถ่ายเป็นเลือดและลำไส้อักเสบ
                        สาเหตุ  เกิดจากไก่กินน้ำไม่สะอาดมีเชื้อบิดเป็นตัวเข้าไปจะแสดงอาการในไก่ทุกอายุ คือถ่ายเหลวเป็นเลือด เนื่องจากลำไส้อักเสบ เมื่อไก่ตายผ่าดูจะพบว่าในส่วนของลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่และติ่งมีการอากรอักเสบแดง
                        การรักษา
 ต้องหาน้ำดื่มที่สะอาดให้ไก่กิน หากพบว่าไก่ถ่ายพยาธิเป็นเลือดสงสัยว่าจะเป็นโรคบิด ให้ใช้ยาซัลฟาละลายน้ำให้ไก่กิน หรือฉีดและรีบนำไก่ตายไปให้สัตว์แพทย์ตรวจอีกครั้งหนึ่ง
                6. ขี้กลาก  โดยปกติจะพบไก่ตัวผู้หลังจากการชนแล้ว  ทำความสะอาดหน้าไม่ดีจะเกิดเชื้อรา ขึ้นบนใบหน้าและหัว เป็นสีขาว หรือปื้นใหญ่ๆ ทำให้ดูน่าเกลียด
                        สาเหตุ  เกิดจากเชื้อราเป็นทั้งตัวผู้และตัวเมีย เกิดเป็นสีขาว ๆ เป็นผื่นขึ้นมาเป็นจุด ๆ ตามใบหน้าและหงอน
                        การักษา  ใช้สำลีชุบยาฆ่าเชื้อราขาว ๆ ออกและทาด้วยขี้ผึ้งกำมะถันหรือจะใช้กำมะถันป่นผสมกับน้ำมันพืชให้ข้นทางทุกวันก็หาย
                7. ตามบวมปิด อาการที่พบไก่ตาบวมปิดข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ทำให้มองไม่เห็น กินอาหารไม่ได้ อาจอดอาหารตาย เปิดตาดูบางครั้งจะมีขี้ตาข้นสีขาว ๆ ปิดอยู่หรือมีน้ำตาไหลทำให้ไก่ต้องสะบัดหัวบ่อยๆ
                        สาเหตุ  เกิดจากไก่เป็นโรคหวัด ปกติตรงหัวตาไก่จะมีท่อต่อลงมายังจมูกและลำคอ หากท่ออุดตันเชื้อหวัดจะขึ้นตา ทำให้มีน้ำตาไหลและตาบวมปิด
                        การรักษา  เปิดตาแล้วใช้สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ ทำความสะอาดล้างตาเอาขี้ตาออกใช้ยาป้ายตาของคนทาก็ได้ อย่าให้ยาปฏิชีวนะกินให้ไก่ถูกลโกรก หนาวหรือร้อนจัดเกินไป
                8. ไก่ไม่สบาย เหงา หน้าดำ ขี้ขาว กระเพาะอาหารเต็มไม่ย่อย
                        สาเหตุ  เกิดจากการไก่เครียดจากการชนกัน จากฤดูที่เปลี่ยนแปลงทำให้เชื้ออหิวาต์ไก่กำเริบเป็นพิษขึ้นมา

                        การรักษา  ปกติไก่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์จะไม่ป่วยด้วยโรคนี้ การรักษาโรคนี้ต้องให้ยาซัลฟาหรือหมวดยาอื่น ๆ ก็ได้ ทั้งฉีดและกิน แต่ต้องรีดเอาอาหารในกระเพาะออกให้มากที่สุด โดยกรอกน้ำให้กินมาก ๆ แล้วจับไก่เอาตีนขึ้นชี้ฟ้าเอาหัวลงแล้วรีดเอาอาหารและน้ำออกทางปากให้ได้มากที่สุด ระหว่างการรักษาให้หยุดอาหารทั้งหมดให้กินยาละลายน้ำอย่างเดียว หรือจะให้ยาช่วยย่อยอาหารของคนให้กินจะช่วยรักษาให้รอดได้ เมื่อไก่อาการดีขึ้นให้กินกล้วยสุกหรือข้าวสุก เล็กน้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้นทุกวัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ไก่จะเป็นการดีที่สุด

                9. คอดอก โรคนี้จะพบว่าไก่ปากเหม็น น้ำลายเหม็น เมื่อเปิดปากดูจะพบว่าที่ลำคอจะมีแผ่นขาวๆ ติดอยู่ที่ผนังลำคอหรือเป็นวงกลมๆ เมื่อเอาสำลีเช็ดจะหลุดออก
                        สาเหตุ  อาจจะเกิดจากเชื้อราทำให้มีแผ่นขาวๆ ติดอยู่หรืออาจจะเกิดจากฝีดาษคงคอ เพราะว่าฝีดาษเกิดตามใบหน้าของลูกไก่ แต่หากไก่ใหญ่เป็นโรคนี้จะเป็นที่คอ หรืออาจจะเกิดจากไก่ขาดวิตามินเอก็ได้ เพราะว่าการขาดวิตามินเอจะทำให้ผิวหนังลำคอหนาขึ้นมา
                        การรักษา  ใช้ใช้สำลีเช็ดตรงผื่นขาวๆ ออก แล้วทาด้วยยาสีม่วง(เจนเตียนไวเลท) ถ้าเป็นเชื้อราต้องใช้ยากินรักษาเชื้อราให้น้ำมันตับปลาหรือผักสีเหลืองให้กินป้องกันขาดวิตามินเอก็ได้ เช่น มะละกอสุก เป็นต้น
                10. พยาธิตาไก่ จะพบเห็นพยาธิอยู่ในตาไก่ วิ่งออกเร็ว ตามหัวทัน เปลือกตา ทำให้ไก่น้ำตาไหลหรือบวมได้
                        สาเหตุ  เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งที่มีแมลงสาบเป็นพาหนะ คือไก่กินแมลงสาบจึงจะเป็นโรคนี้
                        การรักษา  ควรให้การป้องกันไม่ให้ไก่กินแมลงสาบถ้าพบว่าตาไก่มีพยาธิอยู่ให้ใช้สำลีพันไม้เช็ดออก โดยหยอดยาล้างตาให้พยาธิลอยตัวแล้วเช็ดออกได้ง่าย

                11. แข้งถก แข้งถกในไก่มักจะเป็นไก่ชนตัวผู้ เมื่อโตเต็มที่แล้ว โดยจะเริ่มเป็นแผลสดตกสะเก็ดเล็กๆ ตรงข้อพับของขา จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไก่จะแสดงอาการเจ็บปวด ไม่อยากเดิน ยืนยกขางอตรงข้อพับ ซึ่งปล่อยไว้ไก่อาจตายได้
                        การรักษา  ใช้ยารักษาโดยเฉพาะ เช่น ยา FUMODI ทางตรงข้อพับเช้า-เย็น จะทำให้หนังตรงและเอ็นตรงข้อพับหย่อยตัว และแผลค่อยๆ หายไป แต่เป็นยาที่มีราคาแพงมาก ควรใช้ยาที่สามารถเตรียมเองได้ โดยมีวิธีการเตรียมดังนี้
                        เอากะลามะพร้าวที่เอาเนื้ออกมาแล้วกลั่นให้ได้น้ำมันของเนื้อกะลาแล้วทาตรงข้อพับวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เช่นกัน
                        วิธีกลั่น ใช้กะลามะพร้าว 2-3 ชิ้น มาจุดไฟให้ติดกะลาแล้วนำไปใส่ในโถหรือถ้วยเคลือบก็ได้ โดยลอกโถหรือถ้วยเคลือบในน้ำเย็น ให้กะลามะพร้าวไหม้จนเกือบหมดแล้วผาฝาปิด เพื่อให้ไฟดับเราจะได้น้ำมันตกไปที่ก้นถ้วยหรือโถจะไก้น้ำมันเล็กน้อย จึงอาจจะต้องทำบ่อยๆ จนได้ปริมาณพอตามต้องการ
                12. กระดูกอกคด ไก่ชนที่มีอาการกระดูกคด เมื่อเข้าประกวดกรรมการจะคัดออกไม่มีการตัดสิน เหตุผลที่คัดออกไปเพราะเป็นไก่ที่ไม่สมบูรณ์ ผิดปกติจึงส่งผลต่อการออกชน ร่างกายจะอ่อนแอไม่แกร่งเพียงพอ
                        สาเหตุ  ไก่กระดูกอกคด อันเนื่องมาจากกระดูกอ่อนเกิดจากไก่ขาดสารอาหารและวิตามิน ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดี เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูก จงอยปาก เล็บ เดือย เปลือกไข่ เป็นต้น ในแม่ไก่จะพบไข่เปลือกบาง ไข่นิ่ม ในลูกไก่จะทรงตัวไม่ดี เดินโซเซขนหยาบกร้าน บางตัวจงอยปากบิด เล็บบิดเบี้ยว กระดูกซีโครงอ่อนบิด เป็นปมที่รอยต่อกระดูกอ่อน ทำให้กระดูกหน้าอกคด ชาวบ้านเรียกว่า “ไก่หลังกุ่ง”
                        การรักษา  เมื่อเกิดอาการกระดูกคดแล้ว คงยากที่จะรักษาให้หายขาดได้จึงควรเน้นการป้องกันมากกว่า โดยปล่อยให้ไก่หากินก่อนอาหารธรรมชาติเองบ้างแล้วเสริมด้วยพืชผัก  ผลไม้ เช่น ใบกระถิน มะละกอ มะม่วงสุก ฯลฯ  แต่หากได้กินพวกแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลาน และปลา ก็จะทำให้ได้แคลเซียม แก้ปัญหากระดูกอ่อนคดได้

                13. ลูกไก่ตีนขยุ้ม ปัญหาสำคัญของการเลี้ยงลูกไก่ชนในช่วงแรกเกิดจนถึง 2 เดือน มักจะพบอาการตีนขยุ้มของลูกไก่บางตัว เดินไม่ได้ ต้องนั่งบนข้อเข่า ใช้ปีกทั้งสองข้างพยุงตัว จึงถือผลผลิตลูกไก่ชนที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน


                        สาเหตุ  เกิดจากขาดวิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน ซึ่งพบได้โดยธรรมชาติในพืชผักสีเขียว หรือหญ้าสด ประโยชน์ของวิตามินบี 2 คือ ช่วยสร้างระบบน้ำย่อยในร่างกาย และช่วยระบบการทำงานของปลายประสาทโดยเฉพาะช่วงลูกไก่กำลังเจริญเตอบโต
                        การรักษา  การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าพบลูกไก่ตีนขยุ้ม ควรให้วิตามินบี 2 ซึ่งอาจรวมอยู่ในวิตามินบีรวม เมื่อนำมาให้ลูกไก่ป่วยกินจะมีผลตอบสนองภายใน 2-3 วัน ให้ซ้ำหลายๆ ครั้งจะได้หาย ในแม่ไก่ชน ควรหาหญ้าสีเขียวให้ไก่กินบ้าง ใบกระถินบ้าง โดยเฉพาะการเลี้ยงขังยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากจึงควรให้วิตามินบีรวมแก่แม่ไก่ชนก่อนผสมพันธุ์กินเป็นประจำ จะทำให้ลูกไก่ที่เกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีอาการตีนขยุ้ม
                14. หมัดหน้าไก่  เป็นชื่อรวมๆ ซึ่งหมัดที่เกาะหน้าไก่บางครั้งอาจพบมากที่หงอนก็เรียก หมัดหงอนไก่ ถ้าพบมากที่เหนียง เรียกหมัดเหนียงไก่ หรือที่ตา เรียกหมัดตาไก่ เป็นต้น ไม่ว่าหมัดจะเกิดขึ้นบริเวณใดล้วนแต่สร้างความรำคาญและเกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายไก่ทั้งนั้น เพราะหมัดดูเลือดจากหน้าไก่จนทำให้ลูกไก่ตายได้
                        สาเหตุ  เกิดจากตัวหมัดเกาตัวแน่นบริเวณหงอน เหนียง หรือรอบๆ ตาโดยหมัดมีวงจรชีวิตจากไข่ไปสู่ตัวโตเต็มวัยประมาณ 1 เดือน หมัดแต่ละตัวสามารถไข่ได้ถึง 500 ฟอง ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ จะออกเป็นตัว
                        การรักษา  เมื่อเราทราบวงจรชีวิตของหมัดแล้วจะทำให้เรากำจัดและป้องกันได้ง่ายขึ้น แต่การป้องกันจะง่ายและดีกว่า ถ้าเลี้ยงไก่ในคอกโรงเรือนที่สะอาด แห้งไม่มีการหมักหมมของขี้ไก่ ต้องคอยกำจัดขยะมูลฝอยรอบๆ คอกหรือโรงเรือน
                        ส่วนการรักษาต้องระมัดระวังการใช้ยา เพราะอาจเข้าตาหรือไหลเข้าปากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ในลูกไก่อาจใช้ยากำจัดหมัดของสุนัขและแมวเคาะตามตัวไก่จนใบหน้าจะทำให้หมัดตายได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อลูกไก่ ในไก่ใหญ่อาจใช้ยาละลายน้ำอาบ หรือเช็ดตามใบหน้า โดยเลือกยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อไก่ เช่น มาลาไทอ่อน เป็นต้น ส่วนบริเวณพื้นคอกจะต้องฉีดพ่นเพื่อทำลายตัวอ่อน หรือตัวแก่ที่หลงเหลืออยู่ในหมัดจนหมดไปจากคอก หรือโรงเรือน

ลักษณะไก่ชนพระนเรศวร

ลักษณะไก่ชนนเรศวร
        ไก่ชนนเรศวร เป็นไก่ชนในสายพันธุ์ไก่เหลืองหางขาวดังคำกล่าวที่ว่า “ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” จึงเป็นที่ต้องการของนักเลงไก่ปัจจุบันอย่างมากถึงกับพูดว่า “ไก่ชนเหลือหางขาวกินเหล้าเชื่อ” หมายความว่า ไก่เหลืองหางขาวเมื่อได้คู่ตีไม่ต้องมานั่งดูไปสั่งเหล้ามากินเชื่อก่อนได้ต้องชนะแน่ๆ ตำราไก่ชนของ เกรียงไกร ไทยอ่อน บอกว่าไก่เหลืองหางขาวเป็นไก่มีสกุลประวัติเด่นมาก มีลำหักโค่นดี แทงแม่นยำ อาจแทงเข้าตาหรือเข้ารูหูพอดี รูปร่างยาว 2 ท่อน สูงระหงดี สีสร้อยเป็นสีเหลือง ปากสีเหลือง เนื้อชมพูอมแดงแข้งเหลืองอมขาว เล็บและเดือยสีเหลืองอมขาว ซึ่งมีนักเลงไก่ชนหลายท่านได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ไก่เหลืองหางขาวต้องมีลักษณะดูเป็นพิเศษโดยทั่วไปอีก คือ
        “หน้างอนบาง       กลางหงอนสูง
        สร้อยระย้า          หน้านกยูง”

ไก่เหลืองหางขาว เป็นไก่ชนชั้นยอดเยี่ยมของทางภาคใต้ มีลักษณะคือ
        “อกชั้น               หวั้นชิด
        หงอนบิด             ปากร่อง
        พัดเจ็ด               ปีกสิบเอ็ด
        เกล็ดยี่สิบสอง      ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม”

อกชั้น         คือ    อกเชิดท้ายลาด
หวั้นชิด       คือ    ขั้วหางชิดบั้นท้ายก้นเชิงกราน
หงอนบิด     คือ    หงอนไม่ตรง ปิดกระหม่อม
ปากร่อง      คือ    ปากบนมีร่อง ตั้งแต่โคนตรงจมูก 2 ข้าง
พัดเจ็ด       คือ    ขนหางพัดมีข้างละ 7 อัน
ปีกสิบเอ็ด   คือ    ขนปีกท่อนนอกข้างละ 11 อัน
เกล็ดยี่สิบสอง      คือ    เกล็ดนิ้วกลางมี 22 เกล็ด

                พ.ต. พิทักษ์ บัวเปรม สรุปลักษณะไก่ชนนเรศวร ไว้ดังนี้
                สี : สร้อยเหลือง ทั้งสร้อยคอ สร้อยปีกและสร้อยหลังลักษณะ “สร้อยประบ่า ระย้าประกัน”
                หาง : ยาวเหมือนฟ่อนข้าว กะลวยหางสีขาว ยาวโค้งไป ด้านหลังเหมือนปลายห้อยตกลงสวยงาม
                หน้า : แหลมยาวหน้าเหมือนนกยูง
                ปาก : ขาวอมเหลือง มีร่อง 2 ข้างจงอยปาก
                ปีก : ใหญ่ยาว  มีขนขาวแซมทั้งสองข้าง
                อก : ใหญ่ ตัวยาว  ยืนห่างกัน
                ตะเกียบ : คู่แข็ง กระดูก
                แข้ง : ขาวอมเหลือง เล็ก นิ้วยาวเรียว เดือยงอนคับช้อน
                ขัน : เสียงใหญ่-ยาว
                ยืน : ท่าผงาดดังราชสีห์

สายพันธุ์

        1. เหลืองหางขาว ขนาด เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป(วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) และเพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป
        ลักษณะประจำพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร
        ลักษณะเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1.  หัวมีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง
                        1.1  กะโหลก     กะโหลกอวบกลมยาว  2 ตอนส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย
                        1.2  หน้า           ลักษณะคล้ายหน้านกยูง มีสีแดงจัด
1.3 ปาก            รูปร่างคล้ายปากนกแก้ว ลักษณะแข็งแรงมั่นคงมีสีขาวอมเหลือง โคนปากใหญ่ขอบปากและปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท ปากบน มีร่องลึกตั้งแต่โคน ตรงรูจมูกถึงกลางปาก
                        1.4  หงอน         ลักษณะหน้าหงอนบาง กลางหงอนสูงปลายหงอนกดกระหม่อม มีสีแดงจัด
                        1.5  จมูก           รู้จมูกกว้างและยาว ฝาปิดรูจมูกมีสีขาวอมเหลือง
                        1.6  ตา              มีขนาดเล็ก ตาขาวมีสีขาวอมเหลือง(ตาปลาหมอตาย) มีเส้นเลือดแดงโดยรอบหัวตาแหลมเป็นรูปตัววี(V)
                        1.7  หู                หูทั้งสองข้างมีขน 3 สี คือ สีขาว สีเหลืองและสีดำ ขนหูมีมากปิดรูสนิท ไม่มีขี้หู
                        1.8  ตุ้มหู           ตุ้มหูเป็นเนื้อสีแดงจัดเหมือนสีของหน้าขนาดไม่ใหญ่และบาน   
                      1.9  เหนียง       ต้องไม่มี(ลักษณะคางรัดเฟ็ด)
                        1.10 คิ้ว             โหนกคิ้วนูนเป็นสันโค้งบังเบ้าตา

                2.  คอ  คอยาว(2วง) และใหญ่ กระดูกข้อถี่

                3. ลำตัว ลำตัวกลมยาว(ทรงหงส์) จับได้ 2 ท่อน
                        3.1 ไหล่              กระดูกซอกคอใหญ่ ไหลกว้าง
                        3.2 อก              อกกว้างใหญ่ กล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกแข็งแรงโค้งเป็นท้องเรือและยาว(ไม่คดง้อ)
                        3.3  กระปุกหาง  มีขนาดใหญ่ชิดกับบั้นท้าย
                        3.4 ต่อมน้ำมัน    มีขนาดใหญ่ 1 ต่อม อยู่บนกระปุกหาง
                        3.5 ตะเกียบก้น   เป็นกระดุก 2 ชิ้น ออกจากกระดูกซี่โครงคู่สุดท้ายยาวมาถึงก้น แข็งแรง หนา โค้งเข้าหากัน และอยู่ชิดกัน


                4. ปีก
                        เมื่อกางออก จะเห็นกล้ามเนื้อปีกใหญ่หนาตลอดทั้งปีก เอ็นยึดกระดุกแข็งแรง ขนปีกขึ้นหนาแน่นชิดมีความยาวเรียงติดต่อกันจากหัวปีกถึงท้ายปีกและยาวถึงกระปุกถึงหาง              5. ขา         ขาได้สัดส่วนกับลำตัว
                        5.1 ปั้นขา            กล้ามเนื้อโคนขาใหญ่ทั้งสองข้าง เวลายืนโคนขาอยู่ห่างกัน
                        5.2 แข้ง              มีลักษณะเรียวเล็กกลม สีขาวอมเหลือง
                        5.3 เดือย            โคนมีขนาดใหญ่ ต่ำชิดนิ้วก้อย ส่วนปลายเรียวแหลมคม และหงอนเล็กน้อย มีสีขาวอมเหลือง
                6. มีความสมบูรณ์ คือ นิ้วครบ ไม่คดงอ
                        6.1 นิ้ว              มีลักษณะยาว ปลายเรียว มีทองปลิงใต้ฝ่าเท้านิ้วจะมีปุ่มตรงข้อลักษณะคล้ายเนื้อด้านนิ้วละ 3 ข้อ นิ้วกลาง มีเกล็ดตั้งแต่ 20 เกล็ดขึ้นไป ส่วนนิ้วก้อยจะสั้น                   6.2 อุ้งตีน           หนังอุ้งตีนบาง เวลายืนอุ้งตีนไม่ติดพื้น
                        6.3  เล็บ             โค่นเล็บใหญ่ หนา แข็งแรง ปลายแหลม มีสีเหมือนแข้ง คือ ขาวอมเหลือง
                7. ขน ขนเป็นมัน  เงางามระยับ
                        7.1  ขนพื้น มีสีดำตลอดตัว
                        7.2  สร้อย  มีลักษณะ “สร้อยประบ่า ระย้าประกัน” คือสร้อยคอ ขึ้นหนาแน่นยาวประบ่า สร้อยหลังยาวระย้าประถึงก้น มีลักษณะเส้นเล็กละเอียดปลายแหลม ส่วนสร้อยปีกและสนับปีกมีสีเดียวกัน

                        7.3  ปีกนอก (ตั้งแต่หัวปีกถึงกลางปีก) มีไม่น้อยกว่า 11 เส้น  ปีกใน (ตั้งแต่กลางปีกถึงปลายปีก) มีสีดำไม่น้อยกว่า 12 เส้น ปีกไช(ปีกแซมปีกนอก)มีสีขาวไม่น้อยกว่า 2 เส้น เมื่อหุบปีกจะมองเห็นสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีก 2-3 เส้น เมื่อกางออกจะมองเห็นปีกนอกมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                8. หาง ยาวเป็นพวงและเป็นพุ่มเหมือนฟ่อนข้าว
                        8.1  หางพัด มีข้างละไม่น้อยกว่า 7 เส้น มีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                        8.2  หางกะลวย  คือ ขนหางคู่กลางซึ่งเป็นหางเอกจะมีสีขาวปลอดทั้งเส้น มีขนรองหางกะลวยหรือหางรับไม่น้อยกว่า 6 เส้น และมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                        8.3  เป็นเส้นหนึ่งที่ต่อจากสร้อยหลัง มีลักษณะปลายแหลมปกคลุมกระปุกหาง ขอบขน มีสีเหลืองเหมือนสร้อยหลัง
                9. หลัง หลังแผ่เบนขยายใหญ่
                10. กิริยา
                        10.1  ท่ายืน ยืนยืดอด หัวปีกยก ท่าผงาดดังราชสีห์
                        10.2  ท่าเดิน        และวิ่ง        ท่าเดิน สง่าเหมือนท่ายืน เวลาเดินเมื่อยกเท้าขึ้นจะกำนิ้วทั้งหมด เมื่อย่างลงเกือบถึงพื้นดินจะแบนิ้วออกทั้งหมด เวลาวิ่งจะวิ่งด้วยปลายนิ้ว และวิ่งย่อขาโผตัวไปข้างหน้าเสมอ
                        10.3 ขันเสียงใหญ่ ยาว ชอบกระพือปีกและตีปีกแรงเสียงดัง

                11. ลักษณะพิเศษ
                        11.1  พระเจ้าห้าพระองค์ คือ มีหย่อมกระ(มีขนสีขาวแซม๗ 5 แห่ง ได้แก่ 1. หัว 2.หัวปีกทั้งสอง 3.ข้อขาทั้งสอง
                        11.2 เกล็ดสำคัญ ได้แก่  เกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล เกล็ดผลาญศัตรู นอกจากนี้ยังมีเกล็ดกากบาท จักรนารายณ์ ฯลฯ
                        11.3 สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก (สนับปีก) เป็นสีเหลืองทอง เรียกว่า เหลืองประภัสสร
                        11.4 สร้อยสังวาล  เป็นสร้อยบริเวณด้านข้างลำตัว มีลักษณะและสีเดียวกับสร้อย และสร้อยหลัง
                        11.5 ก้านขนสร้อยและหางกะลวย  มีสีขาว บัวคล่ำ-บัวหงาย บริเวณด้านใต้โคนหางเหนือทวารหนักมีขนประสานกันลักษณะแหลมไปที่โคนหางดูคล้ายบัวคว่ำ-บัวหงาย

                ลักษณะข้อบกพร่องของเพสผู้ของพ่อพันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1.  ข้อบกร่องร้ายแรง
                        1.1 กระดูกอกคด
                        1.2 นิ้วหรือเท้าบิดงอ
                        1.3 ไม่มีเดือย
                        1.4 แข้งไม่ขาวอมเหลืองตลอด(แข้งมีสีดำหรือแข้งลาย)

                2. ข้อบกพร่องไม่ร้ายแรง
                        2.1 เท้าเป็นหน่อ
                        2.2 ปากไม่ขาวอมเหลืองตลอด หรือมีจุดดำที่โคนปาก
                        2.3 ในขณะหุบปีก ขนปีกมีสีขาวแลบออกมาทางด้านขวางคล้ายปีกนกพิราบ                 2.4  เดือยหัก หรือตัดเดือย
                        2.5  สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
                        2.6  ลักษณะไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

        ลักษณะเพศเมียหรือแม่พันธุ์ไก่ชนนเรศวร
                1. หัว  มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง ได้แก่ กะโหลก หน้า ปาก หงอน จมูก ตา หู และ คิ้ว มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
                2. คอ คอยาวใหญ่ และกระดูกคอถี่
                3. ลำตัว  มีลำตัวยาวกลม (ทรงหงส์) ได้แก่ ไหล อก กระปุกหาง ต่อมน้ำมัน มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ ส่วนปลายของตะเกียบก้นห่างกันทำให้ไข่ดกและฟองโต
                4. ปีก ลักษณะทั่วไปคล้ายกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์

                5. ขา ได้สัดส่วนกับลำตัว ปั้นขาและแข็งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพสผู้หรือพ่อพันธุ์
                6. เท้า มีความสมบูรณ์ ทั้งนิ้ว อุ้งตีน และเล็บ
                7. ขน ขนเป็นมันเงางาม ขนพื้นมีสีดำตลอดลำตัว มีขนสีขาวกระ(สีขาวแซม) บริเวณหัว หัวปีกและข้อเท้า(ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์) ขนปีกเมื่อหุบปีกมีสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีกไม่เกิน 2-3 เส้น เมื่อกางปีก จะมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
                8. หาง มีหางพัดเป็นจำนวนมาก ชี้ตรงหรือตั้งขึ้นเล็กน้อยมีสีขาวแซม
                9. หลัง  เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
                10. กิริยาท่าทาง  การยืน เดิน และวิ่ง เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์แต่มีลักษณะความเป็นแม่พันธุ์เพศเมีย
                11.  ลักษณะพิเศษ มีลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์ และเกล็ดที่สำคัญเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ หากมีเดือยจะดีมากและมีสีขาวอมเหลืองด้วย
                ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศเมียหรือแม่พันธุ์ไก่ชน
                        1.มีลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นเดียวพับพ่อพันธุ์เพศผู้ เช่น กระดุกอกคด เท้าเป็นหน่อ และนิ้วเท้าบิดงอ
                        2.ขนปีกและขนหาง มีจุดขาวมากเกินกว่า ร้อยละ 10
                        3. สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
                        4. ลักษณะที่ไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

ไก่เหลืองหางขาว ที่ประกาศรับรองพันธุ์

        ไก่เหลืองหางขาว สมาคมฯ ได้กำหนดอุดมทัศนีย์ไว้ และประกาศรับรองพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด คือ

        *เหลืองใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเหลืองแก่ดังสีทองแท่ง ขนปีกในสีดำ ขนปีกนอกสีขาว ขนหางพัดสีดำปลายขาว ขนหางกะลวยสีขาวปลายดำ คู่กลางขาวปลอด ปาก-แข้ง-เล็บ-เดือย สีขาวอมเหลือง แบบสีงาช้าง ตาสีตาปลาหมอตาย (ขาวอมเหลืองอ่อน) ขนปิดรูสีเหลืองแบบสร้อย มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
        *ไก่เหลืองรวกพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองกลางดังสีทองทา หรือสีไม้รวกแก่แห้ง

ไก่เหลืองโสนพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองอ่อนดังสีทองเปลว(ทองปิดพระ) หรือสีดอกโสน หรือดอกคูณ
        *เหลืองเลาพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนเหลืองใหญ่ เหลืองรวก เหลืองโสนทุกประการ ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โดยโคนสร้อยจะเป็นสีขาว ปลายสร้อยจะเป็นสีเหลือง ส่วนไก่เหลืองพระเจ้า 5 พระองค์ตัวอื่นๆ โคนสร้อยจะเป็นสีดำปลายเหลือง

        *ไก่เหลืองทับทิม ลักษณะจะเหมือนเหลืองทั้ง 4 ที่กล่าวมา ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โคนสร้อย สีดำปลายสร้อยสีเหลืองมีจุดขาวอมเหลืองอยู่ปลายสร้อย เรียกว่า “ทับทิม หรือ ดาวเรือง” ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
        *ไก่เหลืองเอกา หรือบางทีเรียกเหลืองธรรมดา ลักษณะเหมือนไก่เหลืองทั้ง 5 ต่างกันตรงที่ไม่มีหย่อมกระ พระเจ้า 5 พระองค์ ไม่มีจุดทับทิมหรือดาวเรืองในสร้อย สีสร้อยมีทั้งแก่ กลาง อ่อน

ในไก่เหลืองหางขาวทั้ง 6 ชนิดนี้ เราถือว่าเป็นไก่เหลืองหางขาวเหมือนกันหมด ไม่มีตัวใดเหนือตัวใด แต่ในกลุ่ม พระเจ้า 5 พระองค์จะเป็นที่นิยมในคนเลี้ยงมากกว่า ใ

การกราดไก่

        การกราดไก่
        ในการเลี้ยงไก่ชนเพื่อนำออกชน เรามีไก่เก่งอย่างเดียวยังไม่พอ ความสมบูรณ์และแข็งแรงของไก่ก็เป็นส่วนส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง การราดน้ำและกราดแดดจึงมีความสำคัญไม่แพ้กันกับการออกกำลังกายหรือการกินอาหารบำรุง ขณะเดียวกันการกราดน้ำและกราดแดดก็มีโทษเช่นกันเพราะตามนิสัยของไก่ไม่ชอบการกราดน้ำเลยถ้าไม่มีเทคนิคในการกราดน้ำอาจเป็นโทษมากกว่าจะเป็นประโยชน์ก็ได้
        1. การกราดน้ำไก่
        การกราดน้ำไก่ชนไม่ว่าจะใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่น(สมุนไพร) จะแตกต่างกันตรงน้ำเท่านั้นหรือหลักการกราดน้ำไก่จะต้องดูดินฟ้าอากาศคือฟ้าต้องโปร่ง ถ้าครึ้มฝนเราอย่านำไก่ออกมากราดน้ำเด็ดขาด เพราะจะมีแต่โทษ ไก่จะหนาวสั่นอาจถึงป่วยเป็นหวัดได้ ประโยชน์จะไม่มีเลยถ้าฝนตก ดังนั้นถ้าจะเริ่มทำการกราดน้ำโดยมีขั้นตอนดังนี้
                ขั้นที่ 1 นำไก่ที่ต้องการออกมาดูข้าวในกระเพาะไก่ว่ามีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีข้าวเลยต้องให้กินข้าวเปลือกประมาณ ¼ กระเพาะ ถ้าไม่มีข้าวเมื่อกราดน้ำแล้วไก่จะหนาวมากไป เพราะกระเพาะไม่มีอะไรที่จะเผาผลาญความร้อนให้แก่ร่างกายเลย ดังนั้นในการกราดน้ำไก่จึงจำเป็นต้องมีข้าวเปลือกในกระเพาะพอประมาณจากนั้นนำเอาถุงพลาสติกมาสวมที่ปีกทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเปียกปีกไก่ ถ้าน้ำเปียกปีกไก่จะทำให้ใยปีกไม่แตกเมื่อใยปีกไม่แตกไก่จะบินไม่ดีเพราะปีกไม่กินลมหรือกินลมน้อยลงจึงทำให้บินไม่สูง
                ขั้นที่ 2 จะกราดน้ำตรงไหนก่อนก็ได้ เช่น ที่สร้อยคอ ขนตรงอก หรือใต้ปีกแต่ต้องกราดน้ำโดยใช้ผ้าเช็ดตามขนไก่ อย่าย้อนขนไก่เด็ดขาดเพราะจะทำให้ขนไก่หักได้ ที่ไม่ให้เปียกเด็ดขาดคือ ปีกและหางไก่ แล้วนำผ้าแห้งมาเช็ดอีกทีหนึ่งจนขนไก่แบจะแห้งอย่าปล่อยให้น้ำแฉะหยดเด็ดขาด การเช็ดด้วยผ้าแห้งเท่ากับการนวดกล้ามเนื้อไก่ไปในตัวด้วย
                ขั้นที่ 3 นำไก่ที่เช็ดตัวแห้ง(พอหมาด) ไปนาบกระเบื้อง การนาบกระเบื้องจะทำให้หนังไก่หน้าและเหนี่ยวมากยิ่งขึ้น โดยนำกระเบื้องมาเผาไฟให้ร้อน (สมัยนี้ใช้กระเบื้องที่ทำขายทั่วไปของร้ายขายอุปกรณ์ไก่ชน) หลังจากนั้นผ้ากราดน้ำไก่ชุบน้ำแล้วบีบน้ำออกไปคลึงลงบนแผ่นกระเบื้องที่ร้อนมาทดลองกับขาของเราดูว่าร้อนเกินไปหรือไม่ ถ้าพอดีแล้วก็นาบลงบนอกไก่ คอ ปีก ปั้นขา จนทั่วทั้งตัวทำทุกอย่างนี้ทุกครั้งที่กราดน้ำจะทำให้หนังไก่หนาและเหนียวขึ้นทุกที
                ขั้นที่ 4 นำไก่ที่ลงกระเบื้องแล้วไปลงขมิ้นที่ผสมปูนไว้ครั้งแรก ควรลงทั้งตัวโดยใช้แปรงสีฟันจุ่มขมิ้นที่ผสมปูน แล้วแปรงไปตามขนไก่ (อย่าทวนขนไก่เด็ดขาดเพราะขนไก่จะหัก) ทุกๆ เส้นขนจนทั่วทั้งตัว ยกเว้น ปีกไก่กับหางไก่ ครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อๆ ไป ไม่ต้องลงทั้งตัวก็ได้ลงเฉพาะส่วนที่ไก่จะถูกคู่ต่อสู้ตีเท่านั้น เช่น หน้าอก ปั้นขา ปีก เป็นต้น แล้วถอดถุงพลาสติกออกนำไปใส่สุ่มตากแดดพร้อมกินข้าวเปลือกที่เตรียมไว้ให้จนอิ่มเป็นการเสร็จสิ้นการกราดน้ำไก่ชน

    ข้อควรระวัง เครื่องมือในการกราดน้ำไก่ เช่น ผ้าเช็ดน้ำไก่ ขนไก่ที่ใช้ปั่นคอแต่ละตัวอย่าใช้ปนกัน เพราะจะทำให้ติดโรคกันได้หรือทางที่ดีควรป้องกันไว้คือต้มทุกครั้งหลังใช้จะดีมาก

 ข้อดีและข้อเสียของการกราดน้ำเย็น
        ข้อดี
                1. ขนของไก่ไม่ค่อยเสีย ถึงจะเสียก็นานกว่าการกราดน้ำด้วยน้ำอุ่น
                2. เลี้ยงไก่เข้าชนได้นานถึงแม้จะค้างนัด 1-2 ครั้งก็ยังชนได้เพราะไม่ค่อยดึงตัวเหมือนกับการเลี้ยงด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร)
                3. ไก่จะบิน บินสูงเพราะไม่ตึงตัวเหมือนกับการเลี้ยงด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร)
                4. ค่าใช้จ่ายน้อย เพราะไม่ต้องไปหาสมุนไพรมาต้มน้ำและเสียเวลาน้อยด้วยเพราะตักน้ำมาจากโอ่งก็กราดได้เลย


        ข้อเสีย             

1. ความแข็งแกร่ง น้อยกว่าการเลี้ยงด้วยน้ำสมุนไพร(สมุนไพร)
                        2. ผิวหรือหนังไก่ไม่หนาเหมือนกับการกราดน้ำด้วยน้ำอุ่น
                        3. ความทนทานสู้กับการกราดน้ำอุ่นไม่ได้เพราะเมื่อถูกคู่ต่อสู้ตีบาดแผลเท่ากันกราดด้วยน้ำเย็นจะเจ็บกว่าเพราะหนังบางกว่า


         ข้อดีและข้อเสียของการกราดน้ำอุ่น

                ข้อดี
                        1.  มีความแข็งแกร่ง เพราะสมุนไพรจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อไก่ให้แข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อปีก กล้ามเนื้อขาทำให้ไก่มีความแข็งแกร่งไปทั้งตัว
                        2.  ผิวหรือหนังไก่จะหนา ทนต่อบาดแผลถูกคู่ต่อสู้คดีได้ดีกว่าน้ำเย็น
                        3.  มีความอดทนเพราะถูกคู่ต่อสู้ตีแล้วไม่ค่อยเจ็บทำให้แพ้ยาก ถ้าบาดแผลเท่ากันอาจจะชนะได้
                ข้อเสีย

                        1.  ขนของไก่ชนจะเสียง่าย เช่น หัก กรอบ ขนไม่สวยเหมือนกราดด้วยน้ำเย็นขนไม่เป็นมันคล้ายกับไก่ขนจะหลุด จึงทำให้นำไก่เข้าชนไม่ได้มากครั้ง ถ้าไก่ชนชนะอาจจะเข้าชนได้ 1-2 ครั้ง เท่านั้นถ้ากราดน้ำด้วยน้ำอุ่น ถ้ากราดด้วยน้ำเย็นอาจชนได้ถึง 3-4 ครั้งถ้าชนะ
                        2.  ถ้าเลี้ยงแล้วค้างนัด คือหาคู่ไม่ได้จะค้างได้นัดเดียว จะต้องนำไก่ไปปล่อยให้เล่นฝุ่นประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ 1-10 วัน แล้วนำมาฉะหน้าใหม่(ซ้อมใหญ่ประมาณ 1 อัน) จึงจะนำมาเลี้ยงเข้าชนใหม่ได้ ไม่เหมือนกับไก่ที่กราดด้วยน้ำเย็นจะเลี้ยงต่อไปเลย
                        3.  ไก่ชนที่กราดด้วยน้ำอุ่น (สมุนไพร) นี้ในยกแรกจะบินไม่ค่อยดีเพราะตัวไก่จะตึงแต่พอยกที่ 2-3 จะค่อยๆ บินดีขึ้น จะตรงกันข้ามกับไก่ที่กราดด้วยน้ำเย็น
                        4.  เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลา เพราะไปหาสมุนไพรหม้อเตามาต้ม และต้องต้มไว้ข้ามวันข้ามคืนคือจะกรวดน้ำเช้านี้ จะต้องต้มสมุนไพรไว้ก่อน 1 วัน

        สูตรการต้มน้ำยาสมุนไพรเพื่อกราดน้ำไก่ชน
                1. ตะไคร้ เอามาทั้งต้นและเหง้า เพราะตะไคร้จะช่วยขับลมแก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับนิ้ว แก้ปวดหลัง ขับเหงื่อและช่วยเจริญอาหาร
                2. ใบส้มป่อย ต้มน้ำแล้วดื่มกินจะแก้ขับเสมหะเป็นยาถ่ายอ่อนๆ ฟอกโลหิต แก้โรคตา แก้โรคผิวหนัง กราดรังแค ถ้าเป็นแผลจะช่วยรักษาแผลได้ด้วย
                3. ขมิ้นชั้น ใช้แก้โรคตาบวม ตาแดง ขับกลิ่นสกปรกในร่างกาย แก้ผดผื่นคันสมานแผล แก้ท้องร่วงและยังช่วยกำจัดไรในไก่ชนอีกด้วย เพราะไรจะกัดกินเลือดไก่ทำให้ไก่สมบูรณ์ แก้โรคผอมแห้งของไก่ก็ได้
                4. ใบมะขามเปรี้ยว จะช่วยในการขับเลือดลมในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้บิด ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้กระหายน้ำ แก้หวัดคัดจมูกในไก่ชน
                5. บอระเพ็ด ช่วยแก้พิษฝีดาษไก่ แก้พิษไข้ หรือแก้โรคแทรกซ้อนของไข้ทรพิษ บำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ทำให้เลือดเย็น และยังแก้ร้อนดับกระหายได้ด้วย
                6. ขมิ้นอ้อย แก้โรคตาแดง ตาแฉะ แก้มะเร็งในรังไข มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งต่อม    ไธรอยด์ รักษาอาการของเลือดคลั่ง เลือดลมหมุนเวียนไม่สะดวก
                7. ไพล เป็นตัวยาที่แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำในไก่ เมื่อซ้อมมาใช้ไพลจะช่วยรักษาสมานแผลภายนอก ช่วยรักษาผิวหนังและบาดแผลที่เกิดจากคู่ต่อสู้ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังเป็นพยาธิภายในได้อีกด้วย
                8. เมื่อหาสมุนไพรทั้ง 7 อย่างได้อย่างละเท่าๆ นำมาหั่นแล้วใส่ผ้าขาวบาง(ผ้ามุ้ง) ห่อแล้วนำมาใส่น้ำพอเหมาะตั้งไฟต้มประมาณ 3-4 ชั่วโมงรินเอาเฉพาะน้ำมาใส่ลงในภาชนะสำหรับจะกราดน้ำไก่ให้นำสมุนไพรไก่(อย่าร้อน)จึงนำไปกราดน้ำไก่ชน สมุนไพรที่รินน้ำออกมาแล้วทิ้ง ต้มไปอีกโดยใส่น้ำลงไปต้มอีกอย่างเดิม จนกว่าสมุนไพรจะเจือจางจึงจะเปลี่ยนใหม่เหมือนเดิม ดังนั้นกราดน้ำไก่ด้วยน้ำอุ่น(สมุนไพร) จะลำบากและใช้เวลามากกว่านั้น

    2. การกราดแดดไก่ชน
                การกราดแดดไก่ชนนับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปกับการกราดน้ำไก่ชน การกราดแดดไก่ชนมีประโยชน์คือ
                1. ทำให้ไก่แข็งแรง ทนทาน อีกทางหนึ่ง ถ้าไก่ชนที่เข้าชนขาดแดด จะสู้ไก่ที่กราดแดดมาอย่างดีไม่ได้ซึ่งนักเลี้ยงไก่รู้ดี ถ้าฝนตกบ่อยๆ ไก่กราดแดดไม่ได้นักชนไก่จะไม่นำออกมาตีเด็ดขาด
                2. ช่วยควบคุมน้ำหนัก ไก่ชนจะมีน้ำหนักที่พอเหมาะกับรูปร่างของไก่นักเลี้ยงไก่จะต้องชั่งน้ำหนักเท่านั้น ส่วนวิธีที่ควบคุมน้ำหนักที่ดี คือกราดแดด
                3. ช่วยให้หายหอบหรือเหนื่อย ไก่ที่กราดแดดสม่ำเสมอ เวลาที่เข้าชนในสังเวียนไก่จะไม่ค่อยหอบปลายยกไก่ที่หอบหรือเหนื่อยปลายยกเกิดจากกราดแดดไม่ถึงทำให้เสียกำลังในยกต่อไป หรือถ้าหอบในต้นๆ ยก อาจทำให้แพ้ได้เลยก็มี
                4. แสงแดดทำให้กระทำให้กระดูกแข็งแรง เพราะได้รับวิตามินดี ที่ช่วยให้ไก่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม ไก่ที่ขาดแสงแดดอาจทำให้เป็นง่อนเปลี้ยได้

                โทษของการกราดแดด
                การกราดแดดเป็นวิธีการที่ผ่านการกราดน้ำแล้วโดยขังไว้ในสุ่มไก่ ระยะเวลาในการกราดแดดจะยาวเท่าไรไม่มีใครบอกได้ขึ้นอยู่กับแสงแดดและนิสัยของแก่แต่ละตัวด้วย ผู้เลี้ยงไก่ต้องคอยสังเกตดูว่าขณะที่กราดแดดอาการเป็นอย่างไร ถ้าเราเห็นว่าไก่ขนแห้งแล้วเริ่มอ้าปาก แสดงอาการหอบแล้วเดินรอบๆ สุ่มก็ควรนำไก่มาปั่นคอด้วยขนไก่แล้วนำเข้าร่ม พอหายหอบแล้วจึงเอาน้ำให้กิน ถ้าเราปล่อยให้ตากแดดหอบมากไปอาจตายได้ ถ้าไม่ตายก็จะแพ้ไก่ง่าย ดังนั้นการกราดแดดควรให้พอดี ถ้ากราดมากจะเกิดโทษมากกว่ามีประโยชน์

ที่มา

นิสิต  ตั้งตระการพงษ์.  (2542).  ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช : เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง.
          พิษณุโลก : โรงพิมพ์ตระกูลไทย.
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก.  (2548).  ไก่ชนนเรศวร  สัตว์เอกลักษณ์  เมืองพิษณุโลก.
          พิษณุโลก : สำนักงาน.